เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  จตุกกนิทเทส  [บุคคล ๔ จำพวก] 500
 
 

บุคคล 4 จำพวก


(1) สัตบุรุษ-อสัตบุรุษ
อสัตบุรุษ.. ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำผิดศีล5
อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ…ชักชวนให้ผู้อื่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำผิดศีล5
สัตบุรุษ… เว้นขาดจาก ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำผิดศีล5
สัตบุรุษยิ่งกว่าสัตบุรุษ… ชักชวนให้ผู้อื่นเว้นขาดจาก ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำผิดศีล5

(2) คนลามก- คนดี
คนลามก... เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ....(ประพฤติอกุศลกรรมบถ10)
คนที่ลามกยิ่งกว่าคนลามก... ชักชวนให้คนอื่นผู้ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ...(อกุศลกรรมบถ10)
คนดี... เป็นผู้เว้นขาดจาก ผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ...(ประพฤติกุศลกรรมบถ10)
คนดียิ่งกว่าคนดี ... ชักชวนให้คนอื่น เว้นขาดจาก ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ...(กุศลกรรมบถ10)

(3) ผู้มีธรรมอันงาม- ผู้มีธรรมลามก
คนมีธรรมอันลามก...เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมนี้(มีมิจฉาทิฐิ)
คนมีธรรมลามกยิ่งกว่าคนมีธรรมลามก...ชักชวนให้คนอื่น ...เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ (มีมิจฉาทิฐิ)
คนมีธรรมงาม...เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมนี้(มีสัมมาทิฐิ)
คนมีธรรมงามยิ่งกว่าคนมีธรรมงาม... ชักชวนให้คนอื่นเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ มีสัมมาทิ

(4) คนมีที่ติ มีที่ติมาก มีที่ติน้อย ไม่มีที่ติ
คนมีที่ติ... เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่มีโทษ(เบา)
คนมีที่ติมาก... เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่มีโทษมาก
คนมีที่ติน้อย...เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ไม่มีโทษมาก
คนไม่มีที่ติ... เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่หาโทษมิได้

(5) บุคคลผู้อุคฆติตัญญู ผู้วิปัญจิตัญญู ผู้เนยยะ ผู้ปทปรมะ

บุคคลผู้ อุคฆติตัญญู ... ผู้ยกหัวข้อขึ้นแสดง บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้อุคฆติตัญญู
บุคคลผู้ วิปัญจิตัญญู … ผู้จำแนกเนื้อความแห่งภาษิตโดยย่อ ให้พิสดาร
บุคคลผู้ เนยยะ  ....ผ้บรรลุมรรคผลเป็นชั้นๆ โดยไต่ถาม ทำไว้ในใจ คบกับกัลยาณมิตร
บุคคลผู้ ปทปรมะ …ฟังพุทธเจ้ามาก กล่าวมาก ทรงจำ บอกสอนมาก แต่ไม่บรรลธรรมในชาตินี้


(6) บุคคลผู้โต้ตอบถูกต้องแต่ไม่ว่องไว ว่องไวแต่ไม่ถูกต้อง ..

บุคคลผู้โต้ตอบถูกต้อง แต่ไม่ว่องไว ...เมื่อถูกถามปัญหา ย่อมแก้ได้ถูกต้อง แต่ไม่ว่องไว
บุคคลผู้โต้ตอบว่องไวแต่ไม่ถูกต้อง... เมื่อถูกถามปัญหาย่อมแก้ได้ว่องไว แต่แก้ไม่ถูกต้อง
บุคคลผู้โต้ตอบถูกต้องและว่องไว... เมื่อถูกถามปัญหา ย่อมแก้ได้ถูกต้องและแก้ได้ว่องไว
บุคคลผู้โต้ตอบไม่ถูกต้องและไม่ว่องไว...เมื่อถูกถามปัญหา ย่อมแก้ไม่ได้ถูกต้อง และไม่ว่องไว


(7) บุคคลเปรียบด้วยวลาหก ๔ อย่าง

บุคคลเหมือน ฟ้าร้อง ฝนไม่ตก ...พูดแต่ไม่ทำ นี้เป็นคนเหมือนฟ้าร้องแต่ฝนไม่ตก
บุคคลเหมือน ฝนตก ฟ้าไม่ร้อง ...ทำแต่ไม่พูด นี้เป็นคนเหมือนฝนตก แต่ฟ้าไม่ร้อง
บุคคลเหมือน ฟ้าร้อง ฝนตก ...พูดด้วยทำด้วย นี้เป็นคนเหมือนฟ้าร้อง แต่ฝนตก
บุคคลเหมือน ฟ้าไม่ร้อง ฝนไม่ตก ..ไม่พูดไม่ทำ เป็นคนเหมือนฟ้าไม่ร้อง และฝนไม่ตก


(8) บุคคลเปรียบด้วยหนู ๔ จำพวก
หนูขุดรู แต่ไม่อยู่.. เรียนธรรมคือสุตตะ คาถา เคยยะ แต่ไม่รู้ในทุกข์ สมุทัย .. (เรียนแต่ไม่รู้)
หนูอยู่ แต่ไม่ขุดรู...ไม่เรียนธรรมคือสุตตะ คาถา แต่รู้ ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (ไม่เรียนแต่รู้)
หนูขุดรู และอยู่ด้วย...เล่าเรียนธรรม คือสุตตะ เคยยะ และรู้ ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ.. (เรียนและรู้)
หนูไม่ขุดรู และไม่อยู่…ไม่เล่าเรียนธรรม คือสุตตะและไม่รู้ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ..(ไม่เรียนและไม่รู้)

(9) บุคคลเปรียบด้วยมะม่วง ๔ ชนิด
บุคคลเช่นมะม่วงดิบ แต่สีเป็นมะม่วงสุก .. ทำตัวน่าเลื่อมใสในการก้าว ในการถอย เหลียวซ้าย แลขวา แต่ไม่รู้ว่านี้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (กายภายนอกดูดี แต่ภายในไม่รู้ธรรม)

บุคคลเช่นมะม่วงสุก แต่มีสีเป็นมะม่วงดิบ.. ทำตัวไม่น่าเลื่อมใส มีสติในการก้าว การถอย เหลียวซ้ายแลขวา แต่รู้ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ...(ภายนอกดูไม่ดี แต่ภายในสุก รู้ธรรม)

บุคคลเช่นมะม่วงดิบ มีสีก็เป็นมะม่วงดิบ
.. ทำตัวไม่น่าเลื่อมใส ในการก้าวไป ถอยหลัง เหลียวซ้าย แลขวาและไม่รู้ว่า นี้ ทุกข์ นี้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (ภายนอกดูไม่ดี ภายในก็ไม่รู้ธรรม)

บุคคลเช่นมะม่วงสุก มีสีก็เป็นมะม่วงสุก.. ทำตัวน่าเลื่อมใส ในการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลัง เหลียวซ้าย แลขวา และรู้ว่า นี้ ทุกข์ นี้ทุกข์ สมุทัย...(กายภายนอกดูดี แต่ภายในก็รู้ธรรม)

(10) บุคคลเปรียบด้วยหม้อ ๔ ชนิด

บุคคลที่เป็นคนเปล่าปิด เป็นไฉน …บางคนก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวา... ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคา-

บุคคลที่เป็นคนเต็มเปิด เป็นไฉน… บางคนก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวา.. ทรงสังฆาฏิบาตร และจีวร ไม่น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามิน-ี

บุคคลที่เป็นคนเปล่าเปิด เป็นไฉน…บางคนก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวา... ทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร ไม่น่าเลื่อมใส บุคคลไม่รู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคา-

บุคคลที่เป็นคนเต็มปิด เป็นไฉน…บางคนก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวา ทรงสังฆาฏิบาตร และจีวร น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินี-


(11) บุคคลเปรียบด้วยห้วงน้ำ ๔ ชนิด

คนตื้นเงาลึก เป็นไฉน …บางคนก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นไม่รู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์.. นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

คนลึกเงาตื้น เป็นไฉน…บางคนก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ไม่น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์.. นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

คนตื้นเงาตื้น เป็นไฉน... บางคนก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ไม่น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นไม่รู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ...นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

คนลึกเงาลึก เป็นไฉน
…บางคนก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ...นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา


(12) บุคคลเปรียบด้วยโคถึก ๔ จำพวก

บุคคลดุพวกของตน ไม่ดุพวกอื่น เป็นไฉน.. บางคนชอบเบียดเบียนบริษัทของตน แต่ไม่เบียดเบียนบริษัทของผู้อื่น เปรียบด้วยโคที่ดุแต่ในพวกของตน ไม่ดุพวกอื่น

บุคคลดุพวกอื่น ไม่ดุพวกของตน เป็นไฉน...บางคชอบเบียดเบียนบริษัทของผู้อื่น แต่ไม่เบียดเบียนบริษัทของตน เปรียบด้วยโคที่ดุพวกอื่น แต่ไม่ดุพวกของตน

บุคคลดุทั้งพวกของตน ดุทั้งพวกอื่น เป็นไฉน...บางคนเบียดเบียนทั้งบริษัทของตน เบียดเบียนทั้งบริษัทของผู้อื่น เปรียบด้วยโคที่ดุทั้งพวกของตน ดุทั้งพวกอื่น

บุคคลไม่ดุทั้งพวกของตน ไม่ดุทั้งพวกอื่น เป็นไฉน…บางคน ไม่เบียดเบียนทั้งบริษัทของตน ไม่เบียดเบียนทั้งบริษัทของคนอื่น..เปรียบด้วยโคที่ไม่ดุทั้งพวกของตนและพวกอื่น


(13) บุคคลเปรียบเหมือนอสรพิษ ๔ จำพวก
อสรพิษมีพิษแล่นเร็ว แต่ไม่ร้าย... โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธ ไม่นอนเนื่องยาวนาน บุคคลนี้ชื่อว่า ผู้มีพิษ แล่นเร็วแต่ไม่ร้าย (โกรธง่าย แต่หายเร็ว)

อสรพิษมีพิษร้าย แต่ไม่แล่นเร็ว... ไม่โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธ นอนเนื่องยาวนาน บุคคลนี้ชื่อว่า ผู้มีพิษ ร้ายแล่นแต่พิษไม่แล่น (โกรธยาก แต่โกรธนาน)

อสรพิษมีพิษแล่นเร็วด้วย มีพิษร้ายด้วย...โกรธเนืองๆ และความโกรธนอนยาวนาน บุคคลนี้ชื่อว่า มีพิษ แล่นเร็วด้วย มีพิษร้ายด้วย (โกรธบ่อย โกรธนาน)

อสรพิษมีพิษไม่แล่นเร็วด้วย มีพิษไม่ร้ายด้วย ...ไม่โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธ ไม่นอนเนื่อง ยาวนาน บุคคนี้ชื่อว่า มีพิษไม่แล่นเร็วด้วย มีพิษไม่ร้ายด้วย (โกรธไม่บ่อย และโกรธไม่นาน)

(14) บุคคลผู้มึดมามึดไป มึดมาสว่างไป
บุคคลผู้มืดมา มืดไป... บางคนเกิดในตระกูลต่ำคือจัณฑาล นายพราน ช่างสาน ซึ่งขัดสน มีโภชนะน้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง มีผิวพรรณขี้ริ้ว ไม่น่าด... เมื่อเขาประพฤติ ทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจ หลังกายแตกลำลาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

บุคคลผู้ มืดมา สว่างไป...บางคนเกิดในตระกูลต่ำ คือ จัณฑาล นายพราน ช่างสาน ซึ่งขัดสน มีโภชนะ น้อย เป็นอยู่ฝืดเคือง มีผิวพรรณขี้ริ้ว ไม่น่าดู เป็นคนบอด.. เมื่อเขาประพฤติ สุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจ หลังกายแตกลำลาย ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

บุคคลผู้ สว่างมา มืดไป... บางคนเกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยะมหาศาล พราหมณ์ คหบดี มีอำนาจวาสนามาก มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก บุคคลนั้นมีรูปงาม.... แต่เขาประพฤติทุจริต ทางกาย วาจา ใจ เบื้องหน้าแต่กายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

บุคคลที่ สว่างมา สว่างไป ....บางคนเกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยะมหาศาล พราหมณ์ มหาศาล คหบดีมหาศาล ซึ่งมีอำนาจวาสนามาก มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก บุคคลนั้นมีรูปงาม... แต่เขาประพฤติสุจริต ทางกาย วาจา ใจ เบื้องหน้าแต่กายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

(15) บุคคลผู้ทำประโยชน์ และไม่ทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์คนอื่น (ทำเพื่อตน แต่ไม่ทำเพื่อคนอื่น)
บางคนถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ถึงพร้อมด้วยสมาธิ  ถึงพร้อมด้วยปัญญา ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะ .... แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมเหมือนตนเอง


บางคนปฏิบัติเพื่อประโยชน์คนอื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน (ทำเพื่อคนอื่น แต่ไม่ทำเพื่อตน)
บุคคลเป็นผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ไม่ถึงพร้อมด้วยปัญญา ไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ แต่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ...

บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์คนอื่นด้วย (ทำเพื่อตน และเพื่อผู้อื่นด้วย)
บางคนเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะ และชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมไปด้วยกัน

บุคคลไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์คนอื่น (ไม่ทำเพื่อตน และผู้อื่น)
บางคนไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ไม่ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ไม่ถึงพร้อมด้วยปัญญา ไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ไม่ถึงพร้อมด้วย วิมุตติญาณทัสสนะ และไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วย

(16) บุคคลผู้ตามกระแส-ทวนกระแส

บุคคลไปตามกระแส เป็นไฉน.. ย่อมเสพกาม ย่อมกระทำกรรมอันลามก
บุคคลไปทวนกระแส เป็นไฉน.. ไม่เสพกามและไม่กระทำกรรมอันลามก
บุคคลผู้ตั้งตัวได้แล้ว เป็นไฉน.. เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภา.. ปรินิพพานในโลกนั้น
บุคคลข้ามถึงฝั่งยืนอยู่บนบกเป็นพราหมณ์ เป็นไฉน.. กระทำให้แจ้งเข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ


(17) บุคคลผู้สุตตะน้อย-สุตตะมาก

บุคคลผู้มีสุตะน้อย และไม่ได้ประโยชน์
บุคคล ผู้มีสุตะน้อย แต่ได้ประโยชน์  
บุคคลผู้มีสุตะมาก แต่ไม่ได้ประโยชน์
บุคคลผู้มีสุตะมาก และได้ประโยชน์


(18) สมณะ 4 จำพวก
สมณะไม่หวั่นไหว... ชื่อว่าเป็นพระโสดาบัน สิ้นสัญโญชน์ ๓ ไม่ตกในอบายภูมิ เป็นผู้เที่ยง จักตรัสรู้ในเบื้องหน้า
สมณะบัวหลวง... เป็นสกทาคามี สิ้นสัญโญชน์ ๓ ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง จะมาสู่โลกนี้ อีกเพียงครั้งเดียว ก็จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
สมณะบัวขาว... เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ และปรินิพพานในเทวโลกนั้น มีอันไม่กลับ มาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา
สมณะสุขุมาลในหมู่สมณะ ...รู้ตัวว่าทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นไปแห่งอาสวะ


 
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๖ หน้าที่ ๑๔๐

จตุกกนิทเทส  [บุคคล ๔ จำพวก]

1 (สัตบุรุษ-อสัตบุรุษ)

        1.คนที่เป็น อสัตบุรุษ เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามพูดเท็จ ดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่าคนที่เป็นอสัตบุรุษ
        2.คนที่เป็น อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ ป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ด้วย ลักทรัพย์ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์ด้วย ประพฤติผิดในกามด้วย ตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกามด้วย พูดเท็จด้วยตนเองด้วยชักชวน ให้ผู้อื่นพูดเท็จด้วย ดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทด้วย นี้เรียกว่าคนเป็น อสัตบุรุษยิ่งกว่าอสัตบุรุษ
        3.คนที่เป็น สัตบุรุษ เป็นไฉน
        บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติปาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เรียกว่าคนที่เป็นสัตบุรุษ
        4.คนที่เป็น สัตบุรุษยิ่งกว่าสัตบุรุษ เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาตด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากปาณาติบาตด้วย เว้นขาดจาก อทินนาทาน ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากอทินนาทานด้วย เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร ด้วยตนเอง ด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจาก กาเมสุมิจฉาจารด้วย เว้นขาดจากมุสาวาทด้วย ตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากมุสาวาท ด้วย เว้นขาดจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาทด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทด้วย
นี้เรียกว่า คนที่เป็นสัตบุรุษ ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

...............................................................................................................................

2 (คนลามก- คนดี)

          1. คนลามก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ โลภอยากได้ของเขา  พยาบาทปองร้ายเขา เห็นผิดจากคลองธรรม นี้เรียกว่า คนลามก
          2. คนที่ลามกยิ่งกว่าคนลามก เป็นไฉน
         บุคคลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ด้วย ลักทรัพย์ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่น ให้ลักทรัพย์ด้วย ประพฤติผิดในกามด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกามด้วย พูดเท็จด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จด้วย พูดส่อเสียด ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้พูดส่อเสียดด้วย พูดคำหยาบด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้พูดคำหยาบด้วยพูดเพ้อเจ้อด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้พูดเพ้อเจ้อด้วย โลภอยากได้ของเขา ด้วย ตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้โลภอยากได้ของเขาด้วย พยาบาทปองร้ายเขา ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้พยาบาท ปองร้ายเขาด้วย เห็นผิดจากคลองธรรมด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เห็นผิดจากคลองธรรมด้วย นี้เรียกว่าคนลามก ยิ่งกว่าคนลามก
          3. คนดี เป็นไฉน
         คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต จากอทินนาทานจากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากการ พูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม นี้เรียกว่า คนดี
          4. คนดียิ่งกว่าคนดี เป็นไฉน
         คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาตด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากปาณาติบาตด้วย เป็นผู้เว้นขาดจาก อทินนาทานด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากอทินนาทานด้วย เป็นผู้เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่น ให้เว้นจาก กาเมสุมิจฉาจารด้วย เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาทด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ เว้นจากมุสาวาทด้วย เป็นผู้เว้นขาดจากการ พูดส่อเสียดด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการพูดส่อเสียดด้วย เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่น ให้เว้นจากการพูดคำหยาบด้วย เป็นผู้ เว้นขาดจากการ พูดเพ้อเจ้อด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เป็นผู้เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ด้วยเป็น ผู้ไม่โลภอยากได้ของเขา ด้วยตนเอง ด้วยชักชวนคนอื่นไม่ให้โลภอยากได้ของเขาด้วย ไม่พยาบาทปองร้ายเขาด้วยตนเองด้วย ไม่ชักชวน ให้ผู้อื่นพยาบาทปอง ร้ายเขาด้วย เป็นผู้เห็นชอบตามทำนองคลองธรรมด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เห็นชอบ ตามทำนองคลองธรรมด้วยนี้เรียกว่า คนดียิ่งกว่าคนดี

...............................................................................................................................

3 (คนมีธรรมอันลามก-คนมีธรรมอันงาม)

          1. คนมีธรรมอันลามก เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฯลฯ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมนี้เรียกว่า คนมีธรรมอันลามก
          2. คนมีธรรมลามกยิ่งกว่าคนมีธรรมลามก เป็นไฉน
          คนบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ด้วย ลักทรัพย์ด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ ลักทรัพย์ด้วย ฯลฯ เห็นผิดจากทำนอง คลองธรรมด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เห็นผิดจากทำนองคลองธรรมด้วย
นี้เรียกว่า คนมีธรรมอันลามกยิ่งกว่า คนมีธรรมลามก
          3. คนมีธรรมงาม เป็นไฉน
          คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน ฯลฯ มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม นี้เรียกว่า คนมีธรรมงาม
          4. คนมีธรรมงามยิ่งกว่าคนมีธรรมงาม เป็นไฉน
          คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาตด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากปาณาติบาตด้วย ฯลฯ เห็นชอบตาม ทำนองคลองธรรมด้วยตนเองด้วย ชักชวนผู้อื่นให้เห็นชอบตามทำนองคลองธรรมด้วย
นี้เรียกว่า คนมีธรรมงามยิ่งกว่าคนมีธรรมงาม

...............................................................................................................................

4 (คนมีที่ติ มีที่ติมาก มีที่ติน้อย ไม่มีที่ติ)

          1. คนมีที่ติ เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมที่มีโทษ ประกอบด้วยวจีกรรมที่มีโทษ ประกอบด้วยมโนกรรม ที่มีโทษ นี้เรียกว่าคนมีที่ติ
          2. คนมีที่ติมาก เป็นไฉน
          คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรมที่มีโทษมาก ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษน้อย ประกอบด้วย วจีกรรม ที่มีโทษ มาก ประกอบด้วยวจีกรรมที่ไม่มีโทษน้อยประกอบด้วยมโนกรรมที่มีโทษมาก ประกอบด้วยมโนกรรม ที่ไม่มีโทษน้อย นี้เรียกว่า คนมีที่ติมาก
.          3. คนมีที่ติน้อย เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยกายกรรมที่ไม่มีโทษมาก ประกอบด้วยกายกรรมที่มีโทษน้อย ประกอบด้วย วจีกรรมที่ไม่มีโทษ มาก ประกอบด้วยวจีกรรมที่มีโทษน้อย ประกอบด้วยมโนกรรมที่ไม่มีโทษมาก ประกอบด้วยมโนกรรม ที่มีโทษน้อย นี้เรียกว่า คนมีที่ติน้อย
          4. คนไม่มีที่ติ เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยกายกรรมหาโทษมิได้ ประกอบด้วยวจีกรรมหาโทษมิได้ ประกอบด้วยมโนกรรม หาโทษมิได้
นี้เรียกว่า คนไม่มีที่ติ

...............................................................................................................................

5
(บุคคลผู้อุคฆติตัญญู  ผู้วิปัญจิตัญญู  ผู้เนยยะ  ผู้ปทปรมะ)

          1. บุคคล ผู้อุคฆติตัญญู เป็นไฉน
การบรรลุมรรคผล ย่อมมีแก่บุคคลใด พร้อมกับเวลาที่ท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้อุคฆติตัญญู
          2. บุคคล ผู้วิปัญจิตัญญู เป็นไฉน
การบรรลุมรรคผล ย่อมมีแก่บุคคลใด ในเมื่อท่านจำแนกเนื้อความแห่งภาษิตโดยย่อ ให้พิสดารบุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้วิปัญจิตัญญู
          3. บุคคล ผู้เนยยะ เป็นไฉน
การบรรลุมรรคผลเป็นชั้นๆ ไป ย่อมมีแก่บุคคลใด โดยเหตุอย่างนี้คือโดยอุทเทส โดยไต่ถาม โดยทำไว้ในใจโดยแยบคาย โดยสมาคม โดยคบหา โดยสนิทสนมกับกัลยาณมิตร บุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้เนยยะ
          4. บุคคล ผู้ปทปรมะ เป็นไฉน
บุคคลใดฟังพุทธพจน์ก็มาก กล่าวก็มาก จำทรงไว้ก็มาก บอกสอนก็มาก แต่ไม่มีการ บรรลุมรรคผลในชาตินั้นบุคคลนี้เรียกว่า บุคคลผู้ปทปรมะ

...............................................................................................................................

6 (บุคคลผู้โต้ตอบถูกต้องแต่ไม่ว่องไว ว่องไวแต่ไม่ถูกต้อง .. )

          1. บุคคลผู้โต้ตอบถูกต้องแต่ไม่ว่องไว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกเขาถามปัญหา ย่อมแก้ได้ถูกต้องแต่ไม่ว่องไว
นี้เรียกว่า บุคคลผู้โต้ตอบถูกต้องแต่ไม่ว่องไว
          2. บุคคลผู้โต้ตอบว่องไวแต่ไม่ถูกต้อง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกเขาถามปัญหาย่อมแก้ได้ว่องไว แต่แก้ไม่ถูกต้อง นี้เรียกว่าบุคคลโต้ตอบว่องไวแต่ไม่ถูกต้อง
          3. บุคคลผู้โต้ตอบถูกต้องและว่องไว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกเขาถามปัญหา ย่อมแก้ได้ถูกต้องและแก้ได้ว่องไว
นี้เรียกว่า บุคคลผู้โต้ตอบถูกต้องและว่องไว
          4. บุคคลผู้โต้ตอบไม่ถูกต้องและไม่ว่องไว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกเขาถามปัญหา ย่อมแก้ไม่ได้ถูกต้องและไม่ว่องไว
นี้เรียกว่าบุคคลผู้โต้ตอบไม่ถูกต้องและไม่ว่องไว

...............................................................................................................................

7 (บุคคลเปรียบด้วยวลาหก ๔ อย่าง)

          บุคคลเปรียบด้วยวลาหก ๔ อย่าง เป็นไฉน วลาหก ๔ อย่าง
         1) ฟ้าร้องฝนไม่ตก
          2) ฝนตกฟ้าไม่ร้อง
          3) ฟ้าร้องฝนตก
          4) ฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตก


          บุคคลเปรียบด้วยวลาหก ๔ อย่างนี้ มีปรากฏอยู่ในโลกก็ฉันนั้น เหมือน กัน บุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
          1) บุคคลเหมือนฟ้าร้องฝนไม่ตก
          2) บุคคลเหมือนฝนตกฟ้าไม่ร้อง
          3) บุคคลเหมือนฟ้าร้องฝนตก
          4) บุคคลเหมือนฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตก


          1. บุคคลเหมือน ฟ้าร้องฝนไม่ตก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้พูดแต่ไม่ทำ อย่างนี้เป็นคนเหมือนฟ้าร้องฝนไม่ตก ฟ้านั้นร้องแต่ฝนไม่ตก แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มี อุปไมยฉันนั้น
          2. บุคคลเหมือน ฝนตกฟ้าไม่ร้อง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนทำแต่ไม่พูด อย่างนี้เป็นคนเหมือนฝนตกฟ้าไม่ร้อง ฝนตกฟ้าไม่ร้องแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มี อุปไมยฉันนั้น
          3. บุคคลเหมือน ฟ้าร้องฝนตก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้พูดด้วยทำด้วย อย่างนี้เป็นคนเหมือนฟ้าร้องฝนตก ฟ้าร้องฝนตกแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มี อุปไมยฉันนั้น
          4.บุคคลเหมือน ฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่พูดไม่ทำ อย่างนี้เป็นคนเหมือนฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตก ฟ้าไม่ร้องฝนไม่ตกแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มี อุปไมยฉันนั้น

บุคคลเปรียบด้วยวลาหก ๔ อย่างเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

...............................................................................................................................

8 (บุคคลเปรียบด้วยหนู 4 จำพวก)

          บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบด้วยหนู ๔ จำพวก เป็นไฉน
          หนู ๔ จำพวก
หนูที่ขุดรูไว้แต่ไม่อยู่ หนูที่อยู่แต่มิได้ขุดรู หนูที่ขุดรูด้วยอยู่ด้วย หนูที่ทั้งไม่ขุดรู ทั้งไม่อยู่
          บุคคลเปรียบด้วยหนู ๔ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลกก็ฉันนั้น เหมือนกัน บุคคลเปรียบด้วยหนู ๔ จำพวก เป็นไฉน
บุคคลเป็นผู้ทำที่อยู่ แต่ไม่อยู่ บุคคลเป็นผู้อยู่ แต่ไม่ทำที่อยู่
บุคคลเป็นผู้ทำที่อยู่ และอยู่ด้วย บุคคลทั้งไม่ทำที่อยู่ ทั้งไม่อยู่ด้วย

          1.บุคคลทำที่อยู่ แต่ไม่อยู่ เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทานอิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ บุคคลนั้น ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ ทำที่อยู่ แต่ไม่อยู่หนูนั้น ทำรังไว้ แต่ไม่อยู่แม้ฉันใด
           2. บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้นบุคคล เป็นผู้อยู่ แต่ไม่ทำที่อยู่ เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถาอุทาน อติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ บุคคลนั้นรู้อยู่ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้อยู่ แต่ไม่ทำที่อยู่ หนูที่เป็นผู้อยู่ แต่ไม่ทำรังนั้น แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมย ฉันนั้น
          3. บุคคลเป็นผู้ทำที่อยู่ และอยู่ด้วย เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถาอุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ บุคคลนั้น ย่อมรู้ตามความเป็นจริง ว่า นี้ทุกข์นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้ทำที่อยู่ และอยู่ด้วย หนูที่ทำรังอยู่และอยู่ด้วยนั้น แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมย ฉันนั้น
          4.บุคคลทั้งไม่ทำที่อยู่ ทั้งไม่อยู่ด้วย เป็นไฉน
          บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะเวยยากรณะ คาถาอุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ บุคคลนั้นไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ทั้งไม่ทำที่อยู่ ทั้งไม่อยู่ด้วย หนูที่ทั้งไม่ทำรัง ทั้งไม่อยู่ด้วยนั้น แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น บุคคลเปรียบด้วยหนู ๔ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

...............................................................................................................................

9 (บุคคลเปรียบด้วยมะม่วง 4 ชนิด)

          บุคคลเปรียบด้วยมะม่วง ๔ ชนิด มีปรากฏอยู่ในโลก ฉันนั้นเหมือนกัน
          บุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
บุคคลเช่นมะม่วงดิบ แต่สีเป็นมะม่วงสุก
บุคคลเช่นมะม่วงสุก แต่มีสีเป็นมะม่วงดิบ
บุคคลเช่นมะม่วงดิบ มีสีก็เป็นมะม่วงดิบ
บุคคลเช่นมะม่วงสุก มีสีก็เป็นมะม่วงสุก

          1. บุคคลที่เป็นเช่น มะม่วงดิบ แต่มีสีเป็นมะม่วงสุก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวา คู้เข้าเหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตร และจีวร น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นไม่รู้ตามความเป็น จริว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อ ว่า เป็นเช่นมะม่วงดิบ แต่มีสีเป็นมะม่วงสุกมะม่วงดิบแต่มีสีเป็นมะม่วงสุกนั้น แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          2. บุคคลที่เป็นเช่น มะม่วงสุก แต่มีสีเป็นมะม่วงดิบ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวา คู้เข้าเหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ไม่น่าเลื่อมใส บุคคลนั้น รู้ตามความ เป็นจริง ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นเช่นมะม่วงสุก แต่มีสีเป็นมะม่วงดิบมะม่วงสุกแต่มีสีเป็นมะม่วงดิบนั้นฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          3. บุคคลเช่น มะม่วงดิบมีสีก็เป็นมะม่วงดิบ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตร และจีวร ไม่น่าเลื่อมใสบุคคลนั้นไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่านี้ทุกข์ ฯลฯ ย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นเช่นมะม่วงดิบ มีสีก็เป็นมะม่วงดิบ มะม่วงดิบมีสีเป็นมะม่วงดิบนั้นแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          4. บุคคลเช่น มะม่วงสุก มีสีก็เป็นมะม่วงสุก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงผ้าสังฆาฏิบาตร และจีวร น่าเลื่อมใสบุคคลนั้นรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นเช่นมะม่วงสุก มีสีก็เป็นมะม่วงสุก มะม่วงสุกมีสีเป็นมะม่วงสุกนั้นแม้ฉันใด บุคคลนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น
บุคคลเปรียบด้วยมะม่วง ๔ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

...............................................................................................................................

10 (บุคคลเปรียบด้วยหม้อ ๔ ชนิด)

บุคคลเปรียบด้วยหม้อ ๔ ชนิดเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลกฉันนั้นเหมือนกัน
บุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
คนเปล่าปิด
คนเต็มเปิด
คนเปล่าเปิด
คนเต็มปิด

          1.บุคคลที่เป็นคนเปล่าปิด เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตร และจีวร น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นย่อมไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นคนเปล่าปิด หม้อเปล่าปิดแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          2.บุคคลที่เป็นคนเต็มเปิด เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตร และจีวร ไม่น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่าเป็นคนเต็มเปิด หม้อเต็มเปิดนั้นแม้เป็นฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          3.บุคคลที่เป็นคนเปล่าเปิด เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงผ้าสังฆาฏิบาตร และจีวร ไม่น่าเลื่อมใสบุคคลนั้นไม่รู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นคนเปล่าเปิด หม้อเปล่าเปิดนั้นแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          4.บุคคลที่เป็นคนเต็มปิด เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตร และจีวร น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นคนเต็มปิด หม้อเต็มปิดนั้นแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
บุคคลเปรียบด้วยหม้อ ๔ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

...............................................................................................................................

11
(บุคคลเปรียบด้วยห้วงน้ำ ๔ ชนิด)

บุคคลเปรียบด้วยห้วงน้ำ ๔ ชนิด มีปรากฏอยู่ในโลกก็ฉันนั้นเหมือนกัน
บุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
คนตื้นเงาลึก
คนลึกเงาตื้น
คนตื้นเงาตื้น
คนลึกเงาลึก

          1. คนตื้นเงาลึก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นไม่รู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า คนตื้นเงาลึก ห้วงน้ำตื้นเงาลึกนั้นแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          2. คนลึกเงาตื้น เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ไม่น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า คนลึกเงาตื้น ห้วงน้ำลึกเงาตื้นนั้นแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          3. คนตื้นเงาตื้น เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร ไม่น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นไม่รู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า คนตื้นเงาตื้น ห้วงน้ำตื้นเงาตื้นนั้นแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          4. คนลึกเงาลึก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ มีการก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังแลตรง เหลียวซ้ายแลขวาคู้เข้า เหยียดออก ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร น่าเลื่อมใส บุคคลนั้นรู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า คนลึกเงาลึก ห้วงน้ำลึกเงาลึกนั้นแม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
บุคคลเปรียบด้วยห้วงน้ำ ๔ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บรรดาบุคคลเหล่านั้น

...............................................................................................................................

12
(บุคคลเปรียบด้วยโคถึก ๔ จำพวก)

บุคคลเปรียบด้วยโคถึก ๔ จำพวกเหล่านี้ ปรากฏอยู่ในโลกก็ฉันนั้น เหมือนกัน
         1) บุคคลดุพวกของตน ไม่ดุพวกอื่น เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ชอบเบียดเบียนบริษัทของตน แต่ไม่เบียดเบียนบริษัทของผู้อื่น บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เปรียบด้วยโคที่ดุแต่ในพวกของตน ไม่ดุพวกอื่น โคถึกที่ดุพวก ของตน แต่ไม่ดุพวกอื่น แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
         2) บุคคลดุพวกอื่น ไม่ดุพวกของตน เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ชอบเบียดเบียนบริษัทของผู้อื่น แต่ไม่เบียดเบียนบริษัทของตน บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เปรียบด้วยโคที่ดุพวกอื่นแต่ไม่ดุพวกของตน โคถึกที่ดุพวกอื่น แต่ไม่ดุ พวกของตน แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
        3)  บุคคลดุทั้งพวกของตน ดุทั้งพวกอื่น เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เบียดเบียนทั้งบริษัทของตน เบียดเบียนทั้งบริษัทของผู้อื่น บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เปรียบด้วยโคที่ดุทั้งพวกของตน ดุทั้งพวกอื่น โคถึกที่ดุทั้งพวก ของตนดุ ทั้งพวกอื่น แม้ฉันใด
        4)  บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น บุคคลไม่ดุทั้งพวกของตน ไม่ดุทั้งพวกอื่น เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เบียดเบียนทั้งบริษัทของตน ไม่เบียดเบียนทั้งบริษัทของ คนอื่น บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เปรียบด้วยโคที่ไม่ดุทั้งพวกของตนและพวกอื่น โคถึกที่ ไม่ดุทั้งพวก ของตนไม่ดุทั้งพวกอื่น แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น บุคคลเปรียบ ด้วยโคถึก ๔ จำพวก เหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

...............................................................................................................................

13 (บุคคลเปรียบด้วยอสรพิษ ๔ จำพวก)

บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบด้วยอสรพิษ ๔ จำพวก เป็นไฉน

อสรพิษ ๔ จำพวก
อสรพิษมีพิษแล่นเร็ว แต่ไม่ร้าย
อสรพิษมีพิษร้าย แต่ไม่แล่นเร็ว
อสรพิษมีพิษแล่นเร็วด้วย มีพิษร้ายด้วย
อสรพิษมีพิษไม่แล่นเร็วด้วย มีพิษไม่ร้ายด้วย

บุคคลเปรียบด้วยอสรพิษ ๔ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลกฉันนั้น
เหมือนกัน

บุคคล ๔ จำพวก เป็นไฉน
บุคคลมีพิษแล่นเร็ว แต่ไม่ร้าย
บุคคลมีพิษร้าย แต่ไม่แล่นเร็ว
บุคคลมีพิษแล่นเร็วด้วย มีพิษร้ายด้วย
บุคคลมีพิษแล่นไม่เร็วด้วย มีพิษไม่ร้ายด้วย


         1) บุคคลมีพิษแล่นเร็ว แต่ไม่ร้าย เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมโกรธเนืองๆ แต่ว่าความโกรธของเขานั้นแล ย่อมไม่นอนเนื่อง อยู่ตลอดกาลยาวนาน บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ผู้มีพิษแล่นเร็วแต่ไม่ร้าย อสรพิษที่มีพิษแล่นเร็ว แต่มีพิษไม่ร้ายนั้น แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          2) บุคคลมีพิษร้าย แต่ไม่แล่นเร็ว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธของเขานั้นแล ย่อมนอนเนื่องอยู่ตลอดกาลยาวนาน บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า มีพิษร้ายแต่มีพิษไม่แล่นเร็ว อสรพิษที่มีพิษร้ายแต่มีพิษไม่แล่นเร็ว แม้ฉันใด บุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          3) บุคคลมีพิษแล่นเร็วด้วย มีพิษร้ายด้วย เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมโกรธเนืองๆ และความโกรธของเขานั้นแล ย่อมนอนเนื่องอยู่ตลอดกาลยาวนาน บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า มีพิษแล่นเร็วด้วย มีพิษร้ายด้วย อสรพิษนี่มีพิษแล่นเร็วด้วย มีพิษร้ายด้วย แม้ฉันใดบุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
          4) บุคคลมีพิษไม่แล่นเร็วด้วย มีพิษไม่ร้ายด้วย เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่โกรธเนืองๆ ทั้งความโกรธของเขานั้น ไม่นอนเนื่องอยู่ตลอด กาลยาวนาน บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า มีพิษไม่แล่นเร็วด้วย มีพิษไม่ร้ายด้วย อสรพิษที่มีพิษ ไม่แล่นเร็วด้วย มีพิษไม่ร้ายด้วย แม้ฉันใดบุคคลนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
บุคคลเปรียบด้วยอสรพิษ ๔ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก

...............................................................................................................................

14
(บุคคลผู้มึดมามึดไป มึดมาสว่างไป)

          1. บุคคลผู้ มืดมามืดไป เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในภายหลัง ในตระกูลต่ำ คือตระกูลคนจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างสาน ตระกูลช่างหนัง ตระกูลคนเทดอกไม้ ซึ่งขัดสน มีข้าวน้ำโภชนะน้อย มีความเป็นอยู่ฝืดเคือง มีอาหารที่จะพึงกิน มีผ้านุ่งห่มหาได้ยาก และบุคคลนั้นเป็นผู้มีผิวพรรณขี้ริ้ว ไม่น่าดู เป็นคนเตี้ย มีอาพาธมาก เป็นคนบอด คนมือเท้ากุด คนกระจอก หรือเป็นคนง่อยมักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ประทีป เขาย่อมประพฤติทุจริต ทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจาประพฤติทุจริตทางใจ ครั้นเขาประพฤติทุจริต ทางกาย วาจา ใจแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะความแตกแห่งกาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลอย่างนี้ชื่อว่ามืดมามืดไป
          2. บุคคลผู้ มืดมาสว่างไป เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดในภายหลัง ในตระกูลต่ำ คือตระกูล คนจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างสาน ตระกูลช่างหนัง ตระกูลคนเทดอกไม้ ซึ่งขัดสน มีข้าวน้ำโภชนะน้อย มีความเป็นอยู่ฝืดเคือง มีอาหารที่จะพึงกิน มีผ้านุ่งห่มหาได้ยาก และบุคคลนั้นเป็นผู้มีผิวพรรณขี้ริ้ว ไม่น่าดู เป็นคนเตี้ยมีอาพาธมาก เป็นคนบอด คนมือเท้ากุด คนกระจอกหรือเป็นคนง่อย มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัยวัตถุอุปกรณ์แก่ประทีป เขาย่อมประพฤติสุจริตทางกาย ประพฤติสุจริตทางวาจา ประพฤติสุจริตทางใจ ครั้นเขาประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะความแตกแห่งกาย ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ บุคคลอย่างนี้ชื่อว่ามืดมาสว่างไป
          3. บุคคลผู้ สว่างมามืดไป เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดแล้วในภายหลัง ในตระกูลสูง คือตระกูลขัตติย มหาศาล ตระกูลพราหมณ์มหาศาล ตระกูลคหบดีมหาศาล ซึ่งมีอำนาจวาสนามาก มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินเพียงพอ มีอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจเพียงพอ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเพียงพอ และบุคคลนั้นเป็นผู้มีรูปงาม น่าดูน่าชม น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยเป็นผู้มีสรีระมีสีราวกับทอง มีปกติได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ประทีป เขาย่อมประพฤติทุจริต ทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา  ประพฤติทุจริตทางใจ ครั้นเขาประพฤติทุจริต ทางกาย วาจา ใจแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะความแตกแห่งกาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลอย่างนี้ ชื่อว่าสว่างมามืดไป
          4. บุคคลที่ สว่างมาสว่างไป เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดแล้วในภายหลัง ในตระกูลสูง คือตระกูลขัตติย มหาศาลตระกูลพราหมณ์มหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาลซึ่งมีอำนาจวาสนามาก มีทรัพย์มากมีโภคะมาก มีทองและเงินเพียงพอ มีอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจเพียงพอ มีทรัพย์และข้าวเปลือกเพียงพอ และบุคคลนั้นเป็นผู้มีรูปงาม น่าดูน่าชม น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความเป็นผู้มีสรีระมีสีราวกับทองมีปกติได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอนที่อยู่อาศัย วัตถุเป็นอุปกรณ์แก่ประทีป เขาย่อม ประพฤติสุจริตทางกาย ประพฤติสุจริตทางวาจาประพฤติสุจริตทางใจ ครั้นเขา ประพฤติ สุจริตทางกาย วาจา ใจแล้ว เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะความแตก แห่งกาย ย่อมเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า สว่างมาสว่างไป

...............................................................................................................................

15
(บุคคลผู้ทำประโยชน์ และไม่ทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น)

          1.บุคคล ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์คนอื่น เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ด้วยตน แต่ไม่ชักชวนคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยสมาธิเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตน แต่ไม่ชักชวนคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วย ปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตน แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะ ด้วยตน แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะ บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนไม่ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ คนอื่น
          2.บุคคล ปฏิบัติเพื่อประโยชน์คนอื่นแต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตน แต่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยศีล ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ด้วยตน แต่ชักชวนคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตน แต่ชักชวนคนอื่นให้ถึง พร้อมด้วย ปัญญา ไม่ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตน แต่ชักชวนคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ด้วยตน แต่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะ บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์คนอื่นไม่ปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตน
          3.บุคคลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์คนอื่นด้วยเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วย เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ด้วยตนด้วย ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วย เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนด้วย ชักชวนคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วย ปัญญาด้วย เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตนด้วย ชักชวนคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วย เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณ ทัสสนะ ด้วยตน ด้วยชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุติญาณทัสสนะด้วย บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย
          4.บุคคลไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์คนอื่นเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยศีล ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตน ไม่ชักชวนคนอื่นให้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ คนอื่น

...............................................................................................................................

16 (บุคคลผู้ตามกระแส-ทวนกระแส)

          1.บุคคลไปตามกระแส เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมเสพกาม ย่อมกระทำกรรมอันลามกนี้เรียกว่า บุคคลไปตาม กระแส
          2.บุคคลไปทวนกระแส เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่เสพกามและไม่กระทำกรรมอันลามก บุคคลนั้นถึงจะมีทุกข์ มีโทมนัส มีหน้าชุ่มด้วยน้ำ ร้องไห้อยู่ ก็ยังประพฤติพรหมจรรย์บริบูรณ์บริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่าบุคคลไปทวนกระแส
          3.บุคคลผู้ตั้งตัวได้แล้ว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดผุดขึ้น เพราะความสิ้นไปแห่ง โอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕ปรินิพพานในโลกนั้น มีการไม่กลับมาจากโลกนั้น เป็นธรรมดา นี้เรียกว่า บุคคล ตั้งตัวได้แล้ว
          4.บุคคลข้ามถึงฝั่งยืนอยู่บนบก เป็นพราหมณ์ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงแล้วซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหา อาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง สำเร็จ อิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรม นี้เรียกว่า บุคคลข้ามถึงฝั่งยืนอยู่บนบก เป็นพราหมณ์

...............................................................................................................................

17
(บุคคลผู้สุตตะน้อย-สุตตะมาก)

          1.บุคคลผู้มีสุตะน้อย และไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ เป็นไฉน
สุตะคือสูตร เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก  อัพภูตธรรมเวทัลละ ของบุคคลบางคนในโลกนี้มีน้อย บุคคลนั้นไม่รู้อรรถ ไม่รู้ธรรม แห่งสุตะอันน้อยนั้น ไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมบุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีสุตะน้อย ไม่ได้ประโยชน์ เพราะสุตะนั้น
         2.บุคคล ผู้มีสุตะน้อย แต่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ เป็นไฉน
สุตะคือสูตร เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ของบุคคลบางคนในโลกนี้มีน้อย บุคคลนั้นรู้อรรถรู้ธรรม ของสุตะน้อยนั้น เป็นผู้ปฏิบัติ ธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีสุตะน้อย แต่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ
          3.บุคคลผู้มีสุตะมาก แต่ไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ เป็นไฉน
สุตะ คือสูตร เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ  ชาดก อัพภูตธรรมเวทัลละ ของบุคคลบางคนในโลกนี้มาก บุคคลนั้น ไม่รู้อรรถ ไม่รู้ธรรมของสุตะมากนั้น ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า เป็นผู้มีสุตะมาก แต่ไม่ได้ประโยชน์ เพราะสุตะ
          4.บุคคลผู้มีสุตะมาก และได้ประโยชน์เพราะสุตะ เป็นไฉน
สุตะคือสูตร เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรมเวทัลละ ของบุคคลบางคนในโลกนี้มาก บุคคลนั้นรู้อรรถรู้ธรรม ของสุตะอันมากนั้น เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลอย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีสุตะมาก และได้ประโยชน์ เพราะสุตะ

...............................................................................................................................

18
(สมณะ 4 จำพวก)

          1.บุคคลผู้เป็นสมณะไม่หวั่นไหว เป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ชื่อว่าเป็นพระโสดาบันเพราะความสิ้นไปแห่งสัญโญชน์ ๓ มีอันไม่ตกไปในอบายภูมิ เป็นผู้เที่ยง เป็นผู้จักตรัสรู้ในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าบุคคลผู้ เป็น สมณะ ไม่หวั่นไหว
          2.บุคคลผู้เป็นสมณะบัวหลวง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ ชื่อว่า เป็นพระสกทาคามี เพราะความสิ้นไปแห่งสัญโญชน์ ๓ เพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง จะมาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก็จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ นี้เรียกว่า บุคคลผู้เป็นสมณะบัวหลวง
          3.บุคคลผู้เป็นสมณะบัวขาว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เกิดผุดขึ้น เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสัญโญชน์ ๕และปรินิพพานในเทวโลกนั้น มีอันไม่กลับมาจาก โลกนั้นเป็นธรรมดา นี้เรียกว่า บุคคลผู้เป็นสมณะบัวขาว
          4.บุคคลผู้เป็นสมณะสุขุมาล ในหมู่สมณะ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ รู้ยิ่งด้วยตนเองแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว เข้าถึงแล้วซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ  อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลายแล้ว สำเร็จอิริยาบถอยู่ในทิฏฐธรรมเทียว

นี้ เรียกว่า บุคคลผู้เป็นสมณะสุขุมาลในหมู่สมณะ

จตุกกนิทเทส จบ


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
 
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์