เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  เรื่องภิกษุ แสวงหา มหาภูต (เกวัฏฏสูตร) 484
 
เนื้อหาในพระสูตรนี้พอสังเขป
มหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหนหนอ....
ปัญหาข้อนี้เธอมิควรถามอย่างนั้น แต่ควรถามอย่างนี้
มหาภูตรูปย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน



 
 
 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙  สุตตันตปิฎก หน้า ๓๒๖


เรื่องภิกษุ แสวงหา มหาภูต (เกวัฏฏสูตร)


          [๓๔๓] ดูกรเกวัฏฏ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุนี้เอง ได้เกิดความ ปริวิตก อย่างนี้ว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหนหนอ. ลำดับนั้น เธอได้เข้าสมาธิชนิดที่เมื่อจิต ตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่เทวโลกปรากฏได้.

ครั้นแล้วเธอได้เข้าไปหาพวก เทวดาชั้นจาตุมหาราช ถึงที่อยู่ แล้วถามว่า

ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน?

เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว เทวดาชั้นจาตุมหาราชจึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ที่ดับไม่มิเหลือ แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้เหมือนกัน แต่ยังมี ท้าวมหาราชอยู่ ๔ องค์ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าวเธอคงจะทราบ.

ลำดับนั้นภิกษุนั้นจึงไปหา ท้าวมหาราชทั้ง ๔ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุเหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน?

เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จึงตอบว่าแม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีกเทวดา เหล่านั้น คงจะทราบ

ภิกษุนั้นจึงเข้าไปหา เทวดาชั้นดาวดึงส์ แล้วถามว่า ท่านทั้งหลายมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน?

เมื่อเธอถามอย่างนี้แล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยัง มี ท้าวสักกะจอมเทพ ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้าอยู่อีก ท้าวเธอคงจะทราบ.

ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้ไปหา ท้าวสักกะจอมเทพ แล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุวาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน?

ดูกรเกวัฏฏ์ เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น

แต่ยังมี เทวดาชั้น ยามะ ... ท้าวสุยามะ ... เทวดาชั้นดุสิต ... ท้าวสันดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ...ท้าวสุนิมมิต ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ... ท้าวปรนิมมิต วสวดี ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าข้าพเจ้าอยู่อีก ท้าวเธอคงทราบที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหา ภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ได้.

          [๓๔๔] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้นแล เธอได้เข้าไปหา วสวดีเทวบุตร แล้วถามว่า ท่านมหา ภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหน เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว วสวดีเทวบุตรตอบว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่ยัง มีเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกเราอยู่อีก เทวดา เหล่านั้นคงจะทราบ ลำดับนั้นภิกษุได้เข้าสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่ พรหมโลกปรากฏได้.

          [๓๔๕] ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อนั้น เธอได้เข้าไปหา เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมโลก แล้วถามว่าท่านทั้งหลาย มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน?

เมื่อเธอถามอย่างนี้ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหม จึงตอบว่า แม้พวกข้าพเจ้า ก็ไม่ทราบ แต่ยังมีพรหมผู้เป็น มหาพรหมเป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์ โดยถ่องแท้ ผู้ใช้อำนาจเป็น อิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจเป็นบิดาของหมู่สัตว์ ผู้เกิดแล้วและยังจะเกิด ต่อไป ซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกข้าพเจ้า ท้าวมหาพรหมนั้นแล คงจะทราบ

ก็บัดนี้ ท้าวมหาพรหม นั้นอยู่ที่ไหน แม้พวกเราก็ไม่รู้ที่อยู่ของพรหมหรือทิศทาง ที่พรหมอยู่ แต่ว่านิมิตทั้งหลายย่อมเห็นได้ แสงสว่างย่อมเกิดเอง โอกาสย่อมปรากฏ เมื่อใด พรหมจักปรากฏองค์เมื่อนั้น การที่แสงสว่างเกิดเอง โอกาสปรากฏนั้นแล เป็นบุพพนิมิตสำหรับความปรากฏแห่งพรหม ดูกรเกวัฏฏ์ ต่อมาไม่นาน มหาพรหมนั้น ได้ปรากฏแล้ว.

          [๓๔๖] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น เธอได้เข้าไปหา มหาพรหม แล้วถามว่า ท่าน มหาภูตรูป ทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ย่อมดับไม่มีเหลือใน ที่ไหน?

เมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว ท้าวมหาพรหมนั้นได้ตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์โดยถ่องแท้ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นอิศวร เป็นผู้สร้างเป็นผู้เนรมิตร เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้วและยังจะเกิดต่อไป แม้ครั้งที่ ๒ เล่า

ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้น ดังนี้ว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้ต่างหาก แม้ครั้งที่ ๒ เล่า ท้าวมหาพรหมก็ได้ตอบเธออย่างนั้นเหมือนกัน แม้ครั้งที่ ๓ เล่า ภิกษุนั้นก็ได้กล่าวกะท้าวมหาพรหมนั้นดังนี้ว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านอย่างนั้น แต่ข้าพเจ้าถามท่านว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน ดังนี้ต่างหาก.

          [๓๔๗] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น จับแขนภิกษุนั้นนำไป ณ ที่ควรข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวว่า ดูกรภิกษุ พวกเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหมเหล่านี้ เข้าใจเราว่า อะไรๆที่พรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ประจักษ์ ไม่มี ดังนี้

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงตอบต่อหน้าเทวดาเหล่านั้นไม่ได้ว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ที่ดับไม่มีเหลือแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแล การที่ท่านละพระผู้มีพระภาค เสีย แล้วมาเสาะหา การพยากรณ์ปัญหานี้ในภายนอกนั้น เป็นอันท่านทำผิดพลาดแล้ว นิมนต์กลับเถิด ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามปัญหานี้ พระองค์ทรงพยากรณ์แก่ท่านฉันใด ท่านพึงทรงจำข้อนั้นไว้ ฉันนั้น.

อุปมาด้วยนกตีรทัสสี

          [๓๔๘] ดูกรเกวัฏฏ์ ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้หายไปที่พรหมโลก มาปรากฏข้างหน้าเรา เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้อยู่ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดไว้เข้ามา ฉะนั้น. ต่อนั้นเธอไหว้เราแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ถามเราว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เหล่านี้ ย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหนเมื่อเธอกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ตอบว่า

ดูกรภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าเดินเรือทะเลย่อมจับ นกตีรทัสสี (นกดูฝั่ง) ลงเรือไปด้วย เมื่อไม่เห็นฝั่ง เขาย่อมปล่อยนกตีรทัสสี มันบินไปยังทิศบูรพา ทิศทักษิณ ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศเบื้องบน ทิศน้อย ถ้ามันแลเห็นฝั่งโดยรอบ มันก็บิน เลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดยรอบ มันก็จะกลับมายังเรือนั้นอีก

ดูกรภิกษุเธอก็ฉันนั้น แลเที่ยวแสวงหาจนถึงพรหมโลก ก็ไม่ได้รับพยากรณ์ปัญหานี้ ในที่สุดก็ต้องกลับมาหา ยังสำนักเรานั่นเอง ปัญหาข้อนี้เธอมิควรถาม อย่างนั้น แต่ควรถามอย่างนี้.

แถลงปัญหามหาภูต


          [๓๔๙] ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ในที่ไหน อุปาทายรูป(ความยึดมั่นในรูป คือตัวเรานี้) ที่ยาว และสั้น ละเอียด และหยาบ ที่งาม และไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ในที่ไหน นามและรูป ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหน ดังนี้.

ในปัญหานั้น มีพยากรณ์ดังต่อไปนี้

          [๓๕๐] ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใส โดยประการ ทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ ในธรรมชาตินี้.

อุปาทายรูป ที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ใน
ธรรมชาตินี้.
นามและรูป ย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้. เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้น ย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. เกวัฏฏ์ คฤหบดีบุตรมีใจชื่นชม เพลิดเพลิน ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

จบเกวัฏฏสูตร ที่ ๑๑.


 
 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์