ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า 237 ผู้มีหลักเสาเขื่อน ภิกษุท. ! ภิกษุผู้มีสังวรนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้เมื่อเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียง ด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรส ด้วยลิ้น สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็ไม่สยบอยู่ใน อารมณ์ที่น่ารัก ไม่เคียดแค้นในอารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ มีจิตไม่เลื่อนลอยตาม อารมณ์ ย่อมรู้ตามที่เป็นจริง ซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับแห่งบาปอกุศล ที่เกิดแล้วแก่เขานั้น โดยสิ้นเชิง. ภิกษุท. ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากิน ต่างกัน มาผูกรวมกัน ด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วย เชือกเหนียว เส้นหนึ่ง จับจระเข้ จับนก จับสุนัขบ้าน จับสุนัขจิ้งจอก และ จับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง ๆ ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อน หรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง ภิกษุท. ! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้นมีที่อาศัย และที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุด ดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยและที่เที่ยวของตนๆ งูจะเข้าจอมปลวก จระเข้จะลงนํ้า นกจะบินขึ้นไปในอากาศ สุนัขจะเข้าบ้าน สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า และลิงก็จะไปป่า ภิกษุท. ! ในกาลใดแล ความ เป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อน หรือเสา หลักนั้นเอง. ข้อนี้ฉันใด ภิกษุท. ! ภิกษุรูปใดได้อบรมกระทำให้มากในกายคตาสติแล้ว ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอ รู้สึกอึดอัดขยะแขยง หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไป หากลิ่นที่น่าสูดดม กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ รสที่ไม่ชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอ รู้สึกอึดอัดขยะแขยง ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุท. ! ภิกษุผู้มีสังวร เป็นอย่างนี้. ภิกษุท. ! คำว่า เสาเขื่อน หรือเสาหลัก นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่ง กายคตาสติ ภิกษุท. ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจ ไว้ว่า “กายคตาสติ ของเราทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรม กระทำให้มาก กระทำให้เป็นยาน เครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้เพียรตั้งไว้เนือง ๆ เพียรเสริมสร้างโดย รอบคอบ เพียรปรารถสมํ่าเสมอด้วยดี” ดังนี้. ภิกษุท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.