พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
จินตสูตร
อย่าคิดเรื่องโลก แต่จงคิดเรื่องอริยสัจ
ภิกษุ ท. ! มีเรื่องราวในกาลก่อน
บุรุษผู้หนึ่ง ตั้งใจว่าจะคิด ซึ่งความคิดเรื่องโลก, จึงออกจากนครราชคฤห์ไปสู่สระบัวชื่อ สุมาคธา แล้วนั่งคิดอยู่ที่ริมฝั่งสระ.
บุรุษนั้นได้เห็นแล้ว ซึ่งหมู่เสนาประกอบด้วยองค์สี่ (คือช้าง ม้า รถ พลเดินเท้า) ที่ฝั่งสระสุมาคธานั้น เข้าไปอยู่ๆ สู่เหง้ารากบัว.
ครั้นเขาเห็นแล้วเกิดความไม่เชื่อตัวเองว่า “เรานี้บ้าแล้ว เรานี้วิกลจริตแล้ว, สิ่งใดไม่มีในโลกเราได้เห็นสิ่งนั้นแล้ว” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! บุรุษนั้นกลับเข้าไปสู่นครแล้ว ป่าวร้องแก่มหาชน ว่า “ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าเป็นบ้าแล้ว ข้าพเจ้าวิกลจริตแล้ว, เพราะว่าสิ่งใดไม่มีอยู่ในโลก ข้าพเจ้ามาเห็นแล้วซึ่งสิ่งนั้น” ดังนี้.
มีเสียงถามว่า เห็นอะไรมา ?
เขาบอกแล้วตามที่เห็นทุกประการ. มีเสียงรับรองว่า “ถูกแล้ว, ท่านผู้เจริญเอ๋ย ! ท่านเป็นบ้าแล้ว ท่านวิกลจริตแล้ว”.
ภิกษุ ท. ! แต่ว่าบุรุษนั้น ได้เห็นสิ่งที่มีจริง เป็นจริง หาใช่เห็นสิ่งไม่มีจริง ไม่เป็นจริงไม่.
ภิกษุ ท. ! ในกาลก่อนดึกดำบรรพ์ : สงครามระหว่างพวกเทพกับอสูร ได้ตั้งประชิดกันแล้ว.
ในสงครามครั้งนั้น พวกเทพเป็นฝ่ายชนะ อสูรเป็นฝ่ายแพ้.
พวกอสูรกลัว แล้วแอบหนีไปสู่ภพแห่งอสูร โดยผ่านทางเหง้ารากบัว หลอกพวกเทพให้หลงค้นอยู่. (เรื่องของโลกย่อมพิสดารไม่สิ้นสุดถึงเพียงนี้).
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอทั้งหลาย จงอย่าคิดเรื่องโลก โดยนัยว่า
“โลกเที่ยงหรือ ?
โลกไม่เที่ยงหรือ ?
โลกมีที่สุดหรือ ?
โลกไม่มีที่สุดหรือ ?
ชีพก็ดวงนั้น ร่างกายก็ร่างนั้นหรือ ?
ชีพก็ดวงอื่น ร่างกายก็ร่างอื่นหรือ ?
ตถาคตตายแล้วย่อมเป็นอย่างที่เป็นมาแล้วนั้น อีกหรือ ?
ตถาคตตายไปแล้ว ไม่เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วนั้น อีกหรือ ?
ตถาคตตายไปแล้ว เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วอีกก็มี ไม่เป็นก็มี หรือ ?
ตถาคตตายไปแล้ว เป็นอย่างที่เป็นมาแล้วอีกก็ไม่เชิง ไม่เป็นก็ไม่เชิง หรือ ?”
เพราะเหตุไรจึงไม่ควรคิดเล่า ?
ภิกษุ ท. ! เพราะความคิดนั้น
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่ง พรหมจรรย์ ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน เลย.
ภิกษุ ท. ! เมื่อพวกเธอจะคิด จงคิดว่า“เช่นนี้ๆ เป็นทุกข์, เช่นนี้ๆ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่นนี้ๆ เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และเช่นนี้ๆ เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับ ไม่เหลือของทุกข์ ;” ดังนี้.
เพราะเหตุไรจึงควรคิดเล่า เพราะความคิดนี้ ย่อมประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปพร้อมเพื่อความหน่ายทุกข์ ความคลายกำหนัด ความดับ ความรำงับ ความรู้ยิ่ง ความรู้พร้อม และนิพพาน.
ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข, นี้เป็นเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข, นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้เถิด.
มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๘ - ๕๕๙/๑๗๒๕ - ๑๗๒๗
............................................................................................................................
สิ่งที่ไม่ควรคิด
ภิกษุทั้งหลาย ! อจินไตย ๔ อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.
อจินไตย ๔ คืออะไรบ้างเล่า ? คือ :-
๑. พุทธวิสัยแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นอจินไตยไม่ควรคิด
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.
๒. ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌาน
เป็นอจินไตยไม่ควรคิด
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.
๓. วิบากแห่งกรรม
เป็นอจินไตยไม่ควรคิด
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.
๔. โลกจินดา (ความคิดในเรื่องของโลก)
เป็นอจินไตยไม่ควรคิด
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล อจินไตย ๔ ไม่ควรคิด
ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ได้รับความลำบากเปล่า.
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๐๔/๗๗.
|