ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๖๔/๓๓๔/อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๑ หน้าที่ ๒๕๔
หลักที่ควรรู้เกี่ยวกับทุกข์
ภิกษุ ท. ! ข้อที่เรากล่าวว่า
1. พึงรู้จักทุกข์
2. พึงรู้จักเหตุเป็นแดนเกิดของทุกข์
3. พึงรู้จักความเป็นต่างกันของทุกข์
4. พึงรู้จักผลของทุกข์
5. พึงรู้จักความดับไม่เหลือ ของทุกข์ และ
6. พึงรู้จักทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือของทุกข์
ดังนี้นั้น
ข้อนั้น เรากล่าวหมายถึงอะไรเล่า ?
1. พึงรู้จักทุกข์
ภิกษุ ท. ! ข้อนั้น เรากล่าวหมายถึง
ความเกิด เป็นทุกข์
ความแก่ เป็นทุกข์
ความเจ็บไข้ เป็นทุกข์
ความตาย เป็นทุกข์
ความโศก ความร่ำไรร่ำพัน
ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ
ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์
ความปรารถนาอย่างใดแล้ว ไม่ได้อย่างนั้น เป็นทุกข์
กล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญจุปาทานขันธ์ เป็นทุกข์.
2. พึงรู้จักเหตุเป็นแดนเกิดของทุกข์
ภิกษุ ท. ! เหตุเป็นแดนเกิดของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ตัณหา เป็นเหตุเป็นแดนเกิดของทุกข์
3. พึงรู้จักความเป็นต่างกันของทุกข์
ภิกษุ ท. ! ความเป็นต่างกันของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ทุกข์ที่มีประมาณยิ่ง มีอยู่ ที่มีประมาณเล็กน้อย มีอยู่
ที่คลายช้า มีอยู่
และที่คลายเร็ว มีอยู่
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า ความเป็นต่างกันของทุกข์
4.พึงรู้จักผลของทุกข์
ภิกษุ ท. ! ผลของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกความทุกข์ชนิดใดครอบงำแล้ว มีจิตอันความทุกข์รวบรัดแล้ว ย่อมโศกเศร้า ย่อมระทมใจ คร่ำครวญ ตีอก ร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหล
หรือว่า ถูกความทุกข์ชนิดใดครอบงำแล้ว มีจิตอันความทุกข์ รวบรัดแล้ว ย่อมถึงการแสวงหาที่พึ่งภายนอก ว่า “ใครหนอย่อมรู้วิธี เพื่อความดับ ไม่เหลือของทุกข์นี้ สักวิธีหนึ่ง หรือสองวิธี” ดังนี้
ภิกษุ ท. ! เรากล่าวว่า ความทุกข์มีความหลงใหลเป็นผล หรือมิฉะนั้น ก็มีการแสวงหา ที่พึ่ง ภายนอกเป็นผล.
ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า ผลของทุกข์
5.พึงรู้จักความดับไม่เหลือ ของทุกข์
ภิกษุ ท. ! ความดับไม่เหลือของทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ความดับไม่เหลือของทุกข์ มีได้ เพราะความดับไม่เหลือของตัณหา
6.พึงรู้จักทางดำเนินให้ถึง ความดับไม่เหลือของทุกข์
ภิกษุ ท. ! อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นเอง เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ ของทุกข์ ได้แก่
ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ....
ภิกษุ ท. ! คำใด ที่เรากล่าวว่า “พึงรู้จักทุกข์ พึงรู้จักเหตุเป็นแดนเกิดของทุกข์ พึงรู้จักความเป็นต่างกันของทุกข์ พึงรู้จักผลของทุกข์ พึงรู้จักความดับไม่เหลือ ของทุกข์ และพึงรู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ ของทุกข์” ดังนี้นั้น เรากล่าวหมายถึงความข้อนี้ แล.
|