พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๒๒๕
สุคติของเทวดา
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย
เมื่อนั้น นิมิตร ๕ ประการ ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ :-
(๑) ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง
(๒) ผ้าย่อมเศร้าหมอง (เสื้อผ้า)
(๓) เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้
(๔) ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย
(๕) เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน
ภิกษุทั้งหลาย ! เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจากเทพนิกาย
ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า แน่ะท่านผู้เจริญ !
ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑
ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ ลาภ ที่ท่านได้ดีแล้ว ๑
ครั้นได้ ลาภ ที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
อะไรหนอแล เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย
อะไรเป็นส่วน แห่ง ลาภ ที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว
อนึ่ง อะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดา ทั้งหลาย พระเจ้าข้า !
ภิกษุทั้งหลาย !
ความเป็นมนุษย์ นี้แล เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย เทวดาเกิดเป็น มนุษย์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้แลเป็น ส่วนแห่ง ลาภ ที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ศรัทธาของเทวดาใดนั้นตั้งมั่นแล้ว มีรากหยั่งลงมั่น แล้ว อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก พึงนำไปไม่ได้ นี้แลเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย !
เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เมื่อนั้น
เสียง ๓ อย่าง ของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งออกไปว่า
“แน่ะท่านผู้เจริญ ! ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ
จงถึงความเป็นสหายแห่ง มนุษย์ทั้งหลายเถิด เมื่อท่านเป็นมนุษย์แล้ว
จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม ศรัทธาของท่านนั้น
พึงตั้งลงมั่น มีรากหยั่งลงมั่นในพระสัทธรรม ที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใครๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และอย่ากระทำอกุศลกรรม อย่างอื่น ที่ประกอบด้วยโทษ
กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก
กระทำกุศลด้วยใจ หาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้ แต่นั้น
ท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดสมบัตินั้น ให้มากด้วยทาน
แล้วยังสัตว์แม้ เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ใน พระสัทธรรม ในพรหมจรรย์”
เมื่อใด เทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดา ผู้จะจุติ
เมื่อนั้นย่อม พลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์ นี้ว่า
“แน่ะเทวดา ! ท่านจงมาบ่อยๆ” |