เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
 
ค้นหาคำที่ต้องการ          

 
  ปุณโณวาทสูตร ตรัสกับ ปุณณกะภิกษุ ผู้จะเดินทางไปชนบท
125  
 
 

ดูกรปุณณะ

1. พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท ดุร้ายนัก ถ้าเขาจักด่า จักบริภาษ เธอคิดอย่างไร
ปุ. ข้าพระองค์จักคิดอย่างนี้ว่า ยังดีนักหนา ที่ไม่ให้การประหารเราด้วยฝ่ามือ

2. ถ้าชาวสุนาปรันต จักให้การประหารเธอด้วยฝ่ามือ เธอจักมีความคิดอย่างไร
ปุ. ข้าพระองค์คิดว่า ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน

3. ก็ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยก้อนดิน เธอคิดอย่างไร
ปุ. ข้าพระองค์คิดว่า ยังดีหนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้

4. ถ้าชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอคิดอย่างไร
ปุ. ข้าพระองค์คิดว่า ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาตรา

5. ก็ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยศาตรา เธอคิดอย่างไร
ปุ. ข้าพระองค์ว่า ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาตราอันคม

6. ก็ชาวสุนาปรันต จักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาตราอันคม เธอคิดอย่างไร
ปุ. ข้าพระองค์คิดว่า มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิตพากัน แสวงหาศาตราสังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลย ก็ได้ศาตราสังหารชีพแล้ว

พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วย ทมะ* และ อุปสมะ* ดังนี้แล้ว จักอาจเพื่อจะอยู่ใน สุนาปรันต ชนบทได้แล ดูกรปุณณะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด ฯ
* ทมะ แปลว่า การฝึกตน ข่มใจ ทรมาณ
* อุปสมะ แปลว่า การปราบ สงบใจที่เป็นข้าศึก
-----------------------------------------------------------

เป็นอันว่า ท่านพระปุณณะ อยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะได้ให้พวกมนุษย์ ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจ แสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง และ ตัวท่าน (พระปุณณะ) ได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ * ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน
* วิชชา 3 ปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ระลึกชาติ) จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์) อาสวักขยญาณ (สิ้นอาสวะ)

ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุณณะที่พระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ นั้น ทำกาละเสียแล้ว เธอมีคติเป็นอย่างไร มีสัมปรายภพเป็นอย่างไร

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เรา ลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตรปรินิพพานแล้ว

 

ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้าที่ ๓๖๑

ปุณโณวาทสูตร

ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิด เพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น ทุกข์ย่อมดับไปเพราะนันทิดับ

              [๗๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแลท่านพระปุณณะ ออกจากที่หลีกเร้น ในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวาย อภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์
ด้วยพระโอวาท ย่อๆพอที่ข้าพระองค์ ได้สดับธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว จะเป็นผู้ๆเดียวหลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรปุณณะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ต่อไป ท่านปุณณะทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

              [๗๕๕] ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิย่อมเกิดขึ้นแก่เธอผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้นได้เพราะนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ

ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ...
ดูกรปุณณะ มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ...
ดูกรปุณณะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ...
ดูกรปุณณะ มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ...
ดูกรปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบ ด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึงดำรงอยู่ ด้วยติดใจ ธรรมารมณ์นั้น นันทิย่อมเกิดแก่เธอผู้เพลิดเพลิน พูดถึงดำรงอยู่ ด้วยความติดใจ ธรรมารมณ์ นั้นได้ เพราะเหตุคือนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ

              [๗๕๖] ดูกรปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วย ความติดใจรูปนั้น ย่อมดับไป เพราะนันทิดับ เราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ

ดูกรปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต ...
ดูกรปุณณะ มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ ...
ดูกรปุณณะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา ...
ดูกรปุณณะ มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ...
ดูกรปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดอยู่แล

ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิของเธอ ผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น ย่อมดับไปเพราะนันทิดับ เราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ

ดูกรปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จักอยู่ในชนบทไหน

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อันพระผู้มีพระภาค ทรงสั่งสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว มีชนบทชื่อสุนาปรันตะ เป็นที่ที่ข้าพระองค์จักไปอยู่

              [๗๕๗] พ. ดูกรปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท ดุร้ายหยาบช้า นัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิด อย่างไรในมนุษย์พวกนั้น

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษ ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันต ชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยฝ่ามือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์มีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้

              [๗๕๘]พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหาร เธอด้วยฝ่ามือ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหาร ข้าพระองค์ด้วยฝ่ามือ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาว สุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

              [๗๕๙ ] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหารเธอด้วยก้อนดิน เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหาร ข้าพระองค์ด้วยก้อนดิน ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีหนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยท่อนไม้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้

              [๗๖๐] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหาร ข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาตรา ข้าแต่พระผู้มี พระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้น อย่างนี้

              [๗๖๑] พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การ ประหารเธอด้วยศาตรา (ของมีคม) เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหาร ข้าพระองค์ด้วยศาตรา ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาว สุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาตราอันคม
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้ ฯ

พ. ดูกรปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาตรา อันคม เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น

              [๗๖๒] ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักปลิดชีพข้าพระองค์ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิด ในพวกเขา อย่างนี้ว่า
มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและชีวิต พากันแสวงหาศาตรา สังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหา สิ่งดังนั้นเลยก็ได้ศาตราสังหารชีพแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิด ในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้

              [๗๖๓] พ. ดีละๆ ปุณณะ เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะ ดังนี้แล้ว จักอาจ เพื่อจะอยู่ใน สุนาปรันต ชนบท ได้แล ดูกรปุณณะ เธอจงสำคัญกาลที่ควร ในบัดนี้เถิด

               ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะ ยินดีอนุโมทนาพระภาษิต ของพระผู้มี พระภาคแล้ว ลุกจาก อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ แล้วเก็บ เสนาสนะถือบาตร จีวรเดินทาง จาริกไปยังที่ตั้งสุนาปรันตชนบท เมื่อจาริกไป โดยลำดับ ได้ลุถึงสุนาปรันต ชนบทแล้ว

              [๗๖๔] เป็นอันว่า ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะได้ให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท กลับใจแสดงตนเป็นอุบาสก ประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง กลับใจแสดงตนเป็นอุบาสิกา ประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓
* ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน ครั้นสมัยต่อมา ท่านได้ปรินิพพานแล้ว

               ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้วได้ กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรชื่อปุณณะ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ นั้น ทำกาละเสียแล้ว เธอมีคติ เป็นอย่างไร มีสัมปรายภพเป็นอย่างไร

              [๗๖๕] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุ ธรรม สมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตรปรินิพพานแล้ว

               พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล

* วิชชา 3 คือความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ ได้แก่
1. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
2. จุตูปปาตญาณ มีตาทิพย์และรู้การเกิด และการตายของสัตว์โลกว่าเกิดจากเหตุอะไร
3. อาสวักขยญาณ วิชชาทำอาสวะกิเลสให้สิ้นจากกายใจ

 
พุทธวจน : อ่านคำสอนพระศาสดา อ่านแบบสบายตา โดยคัดลอกหนังสือทั้งเล่มมาจัดทำเป็นเว็บเพจ (คลิกอ่านพร้อมดาวน์โหลดไฟล์ pdf)
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์