เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่ พุทธวจน คำสอนของพระศาสดา คำสอนตถาคต รวมพระสูตรสำคัญ อนาคามี เว็บไซต์เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ค้นหาคำที่ต้องการ            

3 พระสูตร มีความขัดแย้งกัน อนาถปิณฑิโกวาทสูตร และ ทุสีลยสูตรที่ ๑ และ ทุสีลยสูตรที่ ๒ 1600 ไปหน้าหลัก
 
 
(1)

ฉบับหลวงเล่ม ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้า ๓๔๘
สฬายตนวรรค : อนาถปิณฑิโกวาทสูตร

พระสารีบุตรแสดงธรรม / มีพระอานนท์อยู่ด้วย
หลังคฤหบดีทำกาละ เข้าถึงเทวดาชั้นดุสิต (กามภพ)

(พระสูตรนี้ขัดแย้งกับผัคคุณสูตร
ในเรื่องฟังธรรมก่อนทำกาละ)

 
(2)

ฉบับหลวงเล่ม ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้า ๓๗๘
ทุสีลยสูตรที่ ๑ : จำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐

พระสารีบุตรแสดงธรรมแล้วจากไป / มีพระอานนท์อยู่ด้วย
พระสูตรนี้ไม่ได้กล่าวถึงการทำกาละของคฤหบดี
และไม่ได้กล่าวถึงภพใหม่ของ
อนาถบิณฑก

(ทุสีลยสูตรที่ ๑ น่าจะเป็นพุทธวจน ส่วนทุสีลยสูตรที่ ๒
น่าจะเป็นอรรถกถา )

 
(3)

ฉบับหลวงเล่ม ๑๙ สุตตันตปิฎกหน้า ๓๘๒
ทุสีลยสูตรที่ ๒ : กลัวความตายเพราะไม่มีธรรม ๔ ประการ

อานนท์แสดงธรรมผู้เดียว (ไม่มีพระสารีบุตร)
พระสูตรนี้ไม่ได้กล่าวถึงการทำกาละ แต่อานนท์บอกคฤหบดี
ว่าเป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว โสดาปัตติผล ท่านพยากรณ์แล้ว

(
อานนท์พยากรณ์ว่าคฤหบดีได้คุณสมบัติของโสดาบัน โดย ยังไม่ได้ทำกาละ มีข้อสงสัยว่าพระอานนท์ รู้วาระจิตผู้อื่นได้หรือ)
 
      อ่านข้อสังเกตุ      
       
  P1521 (พระสุตรนี้น่าจะเป็นอรรถกถา)   P1544  (พระสูตรนี้น่าจะเป็นพุทธวจน)   P1545 (พระสุตรนี้น่าจะเป็นอรรถกถา)  
 


ฉบับหลวงเล่ม ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้า ๓๔๘
สฬายตนวรรค : อนาถปิณฑิโกวาทสูตร

สฬายตนวรรค
๒. อนาถปิณฑิโกวาทสูตร (๑๔๓)

      [๗๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อนาถบิณฑิก คฤหบดี ป่วยทนทุกข เวทนา เป็นไข้หนัก จึงเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า

      มาเถิดพ่อมหาจำเริญ
พ่อจงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ยังที่ ประทับ แล้วจงถวายบังคมพระบาทพระผู้มี พระภาค ด้วยเศียรเกล้า ตามคำ ของเรา แล้วจงกราบทูลอย่างนี้ว่า

(1. อนาถบิณฑิกเศรษฐี ให้บุรุษไปรายงานพระผู้มีพระภาค และ พระสารีบุตร)

      ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกข เวทนา เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระบาท พระผู้มีพระภาคด้วย เศียรเกล้า

     อนึ่ง จงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรยังที่อยู่แล้ว จงกราบเท้าท่าน พระสารีบุตรตามคำของเรา และเรียน อย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ทนทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้า ท่าน พระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า และ เรียนอย่างนี้อีกว่า

      ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ โอกาสเหมาะแล้ว ขอท่านพระสารีบุตร จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ ของอนาถบิณฑิก คฤหบดี เถิด บุรุษนั้น รับคำอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ยังที่ ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง


(2. กราบทูลพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาพระสารีบุตร)

     [๗๒๑] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนาถบิณฑิก คฤหบดีป่วย ทนทุกข เวทนา เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ด้วยเศียรเกล้า

     ต่อนั้น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรยังที่อยู่ กราบท่าน พระสารีบุตร แล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง พอนั่ง เรียบร้อยแล้ว จึงเรียนท่านพระ สารีบุตรดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วยทนทุกข เวทนา เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้า ท่านพระสารีบุตร ด้วยเศียรเกล้า และสั่งมา อย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ โอกาส เหมาะแล้ว ขอท่าน พระสารีบุตรจงอาศัยความ อนุเคราะห์ เข้าไปยัง นิเวศน์ ของอนาถ บิณฑิกคฤหบดีเถิด ท่านพระสารีบุตร รับนิมนต์ด้วย ดุษณีภาพ

(3. พระสารีบุตรไปยังนิเวศน์ พร้อมกับพระอานนท์)

     ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรนุ่งสบงทรงบาตรจีวร มีท่าน พระอานนท์ เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ ของอนาถบิณฑิก คฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะ ที่เขาแต่งตั้งไว้

     [๗๒๒] พอนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านพอทน พอเป็น ไปได้ หรือ ทุกขเวทนาทุเลา ไม่กำเริบ ปรากฏความ ทุเลาเป็นที่สุด ไม่ ปรากฏความกำเริบละหรือ

(4. อนาถบิณฑิก เล่าอาการ ให้พระสารีบุตรฟัง)

     อ. ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ กระผมทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนา ของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความ กำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความ ทุเลาเลย

     [๗๒๓] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณ กระทบ ขม่อมของกระผม อยู่เหมือนบุรุษมีกำลัง เอาของแหลมคมทิ่ม ขม่อม ฉะนั้น กระผมจึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของ กระผม หนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏมีความกำเริบ เป็นที่สุด ไม่ปรากฏความ ทุเลาเลย

     [๗๒๔] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณเวียน ศีรษะ กระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังให้การ ขันศีรษะ ด้วยชะเนาะมั่น ฉะนั้น กระผมจึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผม หนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏมีความกำเริบ เป็นที่สุด ไม่ปรากฏความ ทุเลาเลย

     [๗๒๕] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณ ปั่นป่วน ท้อง ของกระผมอยู่ เหมือนคนฆ่าโค หรือ ลูกมือคนฆ่าโคผู้ฉลาด เอามีด แล่โค อันคมคว้าน ท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหวเป็นไป ไม่ไหว ทุกขเวทนา ของกระผมหนักกำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความ กำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย

     [๗๒๖] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ความร้อนในกายของ กระผม เหลือประมาณ เหมือนบุรุษมีกำลัง ๒ คน จับบุรุษมีกำลัง น้อยกว่า ที่อวัยวะป้องกันตัวต่างๆ แล้ว นาบ ย่าง ในหลุมถ่านเพลิง ฉะนั้น กระผม จึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนา ของกระผม หนัก กำเริบไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏ ความทุเลาเลย

(5. พระสารีบุตรเทศนาเรื่องความไม่ยึดมั่นในอายตนะภายใน ๖)

     [๗๒๗] สา. ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
เราจักไม่ยึดมั่นจักษุและวิญญาณ ที่ อาศัย จักษุ จักไม่มี แก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
เราจักไม่ยึดมั่นโสต และวิญญาณ ที่อาศัย โสต จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
เราจักไม่ยึดมั่น ฆานะ และวิญญาณที่อาศัย ฆานะ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียก อย่างนี้ ว่า
เราจักไม่ยึดมั่นชิวหา และวิญญาณที่อาศัย ชิวหา จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
เราจักไม่ยึดมั่นกาย และวิญญาณ ที่อาศัย กาย จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
เราจักไม่ยึดมั่นมโน และ วิญญาณที่อาศัย มโน จักไม่มีแก่เรา

     ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(6. พระสารีบุตรเทศนา เรื่องความไม่ยึดมั่นในอายตนะภายนอก ๖)

     [๗๒๘] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียก อย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นรูปและวิญญาณ ที่อาศัยรูป จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเสียงและวิญญาณ ที่ อาศัยเสียง จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกลิ่นและ วิญญาณที่อาศัย กลิ่น จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียก อย่างนี้ว่า เราจัก ไม่ยึดมั่นรสและวิญญาณ ที่อาศัย รส จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียก อย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโผฏฐัพพะและวิญญาณ ที่ อาศัยโผฏฐัพพะ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นธรรมารมณ์ และวิญญาณ ที่ อาศัยธรรมารมณ์ จักไม่มีแก่เรา

     ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(7. พระสารีบุตรแสดงธรรมีกถาเรื่อง ไม่ยึดมั่นในวิญญาณ)

     [๗๒๙] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่าน
พึงสำเหนียก อย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยจักษุวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสตวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยโสตวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยฆานวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหาวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยชิวหาวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกายวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัย กายวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโนวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยมโนวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(8. พระสารีบุตรเทศนาเรื่อง ความไม่ยึดมั่นในผัสสายตนะ๖)

     [๗๓๐] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุสัมผัส และวิญญาณ ที่อาศัยจักษุสัมผัส จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโสตสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยโสตสัมผัส จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นฆานสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยฆานสัมผัส จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นชิวหาสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยชิวหาสัมผัส จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นกายสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยกายสัมผัส จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นมโนสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยมโนสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(9. พระสารีบุตรเทศนา เรื่องความไม่ยึดมั่นในเวทนา)

     [๗๓๑] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล
ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนา เกิดแต่จักษุสัมผัส และวิญญาณ ที่อาศัยเวทนาเกิดแต่ จักษุสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่โสตสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่โสต สัมผัส จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ฆานสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่ฆานสัมผัส จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่ชิวหาสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่ชิวหาสัมผัส จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่กายสัมผัส และ วิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่กายสัมผัส จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส และวิญญาณที่อาศัยเวทนา เกิดแต่มโนสัมผัส จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(10. พระสารีบุตรเทศนา เรื่องความไม่ยึดมั่นในธาตุทั้ง ๖)

     [๗๓๒] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นปฐวีธาตุ และวิญญาณที่ อาศัยปฐวีธาตุ จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอาโปธาตุ และวิญญาณที่อาศัย อาโปธาตุจักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเตโชธาตุ และวิญญาณที่อาศัย เตโชธาตุ จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวาโยธาตุ และวิญญาณที่อาศัย วาโยธาตุ จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากาสธาตุ และวิญญาณที่อาศัยอากาสธาตุ จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(11. พระสารีบุตรเทศนา เรื่องความไม่ยึดมั่นใน ขันธ์ ๕)

     [๗๓๓] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นรูป และวิญญาณ ที่อาศัยรูป จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นเวทนา และวิญญาณที่อาศัยเวทนา จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสัญญา และวิญญาณที่อาศัยสัญญา จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นสังขาร และวิญญาณที่อาศัยสังขาร จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นวิญญาณ และวิญญาณที่อาศัยวิญญาณ จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(12. พระสารีบุตรเทศฯา เรื่องความไม่ยึดมั่นใน สมาธิชั้นอรูป)

     [๗๓๔] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นอากาสานัญจายตนฌาน
และวิญญาณที่อาศัย อากาสานัญจายตนฌาน จักไม่มีแก่เรา
พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่น วิญญาณัญจายตนฌาน และวิญญาณ ที่อาศัยวิญญาณัญจายตนฌาน จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่น อากิญจัญญายตนฌาน และวิญญาณ ที่อาศัยอากิญจัญญายตนฌาน จักไม่มีแก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่น เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และ วิญญาณที่อาศัยเนว สัญญานาสัญญายตนฌาน จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(13. พระสารีบุตรเทศนา เรื่องความไม่ยึดมั่นในโลกนี้ โลกหน้า)

     [๗๓๕] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียก อย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโลกนี้ และวิญญาณ ที่อาศัย โลกนี้จักไม่มี แก่เรา พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นโลกหน้า และวิญญาณ ที่อาศัย โลกหน้า จักไม่มีแก่เรา

ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(14. พระสารีบุตรเทศนา เรื่องความไม่ยึดมั่นในอารมณ์ต่างๆ)

     [๗๓๖] ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียก อย่างนี้ว่า อารมณ์ใดที่เราได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวง หา ได้พิจารณาด้วยใจแล้ว เราจักไม่ยึดมั่นอารมณ์ แม้นั้น และ วิญญาณ ที่อาศัยอารมณ์นั้น จักไม่มีแก่เรา

     ดูกรคฤหบดี ท่านพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้เถิด

(15. อนาถบิณฑิก ร้องไห้ น้ำตาไหลเพราะไม่เคยสนใจฟังจาก พระศาสดาเลย)

     [๗๓๗] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวแล้วอย่างนี้ อนาถบิณฑิกคฤหบดี ร้องไห้น้ำตาไหล ขณะนั้น ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวกะ อนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้ ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านยังอาลัย ใจจดใจจ่ออยู่หรือ

     อ. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัย มิได้ใจจด ใจจ่อ แต่ว่ากระผมได้นั่งใกล้ พระศาสดา และ หมู่ภิกษุที่น่าเจริญใจ มาแล้วนาน ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาเห็นปานนี้

     อา. ดูกรคฤหบดี ธรรมีกถาเห็นปานนี้ มิได้แจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ ผู้นุ่งผ้าขาว แต่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต

     อ. ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมีกถาเห็น ปานนี้ จงแจ่มแจ้ง แก่คฤหัสถ์ ผู้นุ่งผ้าขาว บ้างเถิด เพราะมีกุลบุตร ผู้เกิดมา มีกิเลสธุลีในดวงตาน้อย จะเสื่อมคลายจากธรรม จะเป็นผู้ ไม่รู้ธรรม โดย มิได้สดับ

     ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร และท่านพระอานนท์ กล่าวสอน อนาถบิณฑิก คฤหบดีด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป

(16. อนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้ทำกาละ เข้าถึงชั้นดุสิต)

     [๗๓๘] ต่อนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดี เมื่อท่านพระสารีบุตร และท่าน พระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน ก็ได้ทำกาลกิริยาเข้าถึงชั้นดุสิตแล (เทวดากามภพ)*

(ฟังธรรมก่อนทำกาละ แล้วได้กายชั้นดุสิต ขัดแย้งกับ ผัคคุณสูตร สิ้นสังโยชน์ ๕ ได้คุณสมบัติของ อนาคามี ย่อมเข้าถึง พรหมสุทธาวาส)

(17. อนาถบิณฑิกเทพบุตร มีรัศมีงาม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กล่าวคาถา)

      ครั้งนั้น ล่วงปฐมยามไปแล้ว อนาถบิณฑิกเทพบุตร มีรัศมี งาม ส่องพระวิหารเชตวัน ให้สว่างทั่ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ ประทับ แล้วถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค ยืน ณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

     พระเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัยแล้ว อันพระองค์ผู้เป็น ธรรมราชาประทับ เป็นที่เกิดปีติแก่ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอุดม ๑ ไม่ใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะบริสุทธิ์ในธรรมนั้นได้ด้วยอาการนี้ พระสารีบุตร นั้นแล ย่อม บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วย ความสงบ ความจริงภิกษุผู้ถึง ฝั่งแล้ว จะอย่างยิ่ง ก็เท่าพระสารีบุตร นี้

     อนาถบิณฑิกเทวบุตร กล่าวดังนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ต่อนั้น อนาถบิณฑิกเทวบุตรทราบว่า พระศาสดาทรงพอ พระทัย จึงถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค แล้วกระทำประทักษิณ หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

(18. พระศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ทรงเล่าเรื่อง เทพบุตร เข้าเฝ้า)

     [๗๓๙] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไปแล้ว พระผู้มีพระภาค ตรัสกะ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ล่วงปฐมยาม ไปแล้ว มีเทวบุตรตนหนึ่ง มีรัศมีงาม ส่องพระวิหารเชตวันให้สว่างทั่ว เข้ามาหาเรา ยังที่อยู่ อภิวาทเราแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะเราด้วยคาถานี้ว่า

     พระวิหารเชตวันนี้มีประโยชน์ อันสงฆ์ผู้แสวงบุญอยู่อาศัย แล้ว อันพระองค์ ผู้เป็นธรรมราชาประทับอยู่ เป็นที่เกิดปีติแก่ ข้าพระองค์ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ ได้ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอุดม ๑ ไม่ใช่บริสุทธิ์ ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เมื่อเล็งเห็น ประโยชน์ของตน พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะบริสุทธิ์ ในธรรมนั้น ได้ด้วยอาการ นี้ พระสารีบุตรนั้นแล ย่อมบริสุทธิ์ ได้ด้วย ปัญญา ด้วยศีล และ ด้วยความสงบ ความจริงภิกษุผู้ถึงฝั่งแล้ว จะอย่างยิ่ง ก็เท่า พระสารีบุตรนี้

     ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวบุตรนั้นได้กล่าวดังนี้แล้ว รู้ว่า พระศาสดา ทรงพอพระทัย จึงอภิวาทเรา แล้ว กระทำ ประทักษิณ หายตัวไป ณ ที่นั้นแล

(19. พระอานนท์รับฟังแล้วคิดว่าคงเป็น อนาถบิณฑิกเทวบุตรแน่)

     [๗๔๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้
ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวบุตร นั้น คงจักเป็นอนาถบิณฑิก เทวบุตรแน่ เพราะอนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้เป็นผู้เลื่อมใสแล้วในท่านพระสารีบุตร

     พ. ดูกรอานนท์ ถูกแล้วๆ เท่าที่คาดคะเนนั้นแล เธอลำดับ เรื่อง ถูกแล้ว เทวบุตรนั้น คืออนาถบิณฑิก เทวบุตร มิใช่อื่น

     พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ จึงชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

จบ อนาถปิณฑิโกวาทสูตร ที่ ๑

 


ฉบับหลวงเล่ม ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้า ๓๗๘
ทุสีลยสูตรที่ ๑ : จำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐

ทุสีลยสูตรที่ ๑
จำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐


      [๑๕๔๘] สาวัตถีนิทาน. ก็สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ป่วยได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เรียก บุรุษ คนหนึ่งมาสั่งว่า

(1. อนาถบิณฑิกเศรษฐี ให้บุรุษไปหาพระสารีบุตร)

       ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปเถิดจงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร

       ครั้นแล้ว จงไหว้เท้าทั้งสองของท่านพระสารีบุตร ด้วยเศียร เกล้าตามคำ ของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอกราบเท้าทั้งสอง ของท่านพระสารีบุตร ด้วยเศียรเกล้า และท่านจงเรียนอย่างนี้ ว่า

      ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระสารีบุตร จงอาศัย ความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำของท่านอนาถ บิณฑิก คฤหบดี แล้ว เข้าไปหาท่าน พระสารีบุตรถึงที่อยู่อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้เรียนว่า

(2. พระสารีบุตรอนุเคราะห์แสดงธรรม)

      ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับ ทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระสารีบุตร ด้วย เศียรเกล้า และท่านสั่ง มาอย่างนี้ว่า

     ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระสารีบุตร จงอาศัย ความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของ ท่าน อนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด ท่านพระสารีบุตร รับนิมนต์ ด้วย ดุษณีภาพ

      [๑๕๔๙] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวร มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เข้าไปยังนิเวศน์ของท่าน อนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้

     ครั้นแล้ว ได้ถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ท่านพออดทน ได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนา คลายลง ไม่กำเริบขึ้นแล หรือ ความทุเลาย่อมปรากฏความกำเริบ ไม่ปรากฏแลหรือ

       ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผม อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผม กำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย ความกำเริบย่อมปรากฏ ความทุเลา ไม่ปรากฏ

(3.พระสารีบุตรเทศนาเรื่อง โสตาปัตติยังคะสี่ )

      [๑๕๕๐] สา. ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย ความไม่เลื่อมใส ในพระพุทธเจ้า เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีความ เลื่อมใส อันไม่ หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์ นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม ก็เมื่อท่านเห็นความเลื่อมใส อันไม่ หวั่นไหวใน พระพุทธเจ้านั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน

      [๑๕๕๑] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย ความไม่เลื่อมใส ในพระธรรม เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อม เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสในพระธรรม เห็น ปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีความเลื่อมใส อันไม่ หวั่นไหว ในพระธรรมว่าธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชน พึงรู้ เฉพาะตน ก็เมื่อท่านเห็นความเลื่อมใส อันไม่ หวั่นไหว ในพระธรรมนั้น อยู่ในตน เวทนา จะพึงสงบระงับโดยพลัน

      [๑๕๕๒] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย ความ ไม่เลื่อมใส ในพระสงฆ์ เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีความเลื่อมใส ในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์ สาวก ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ก็เมื่อท่านเห็นความ เลื่อมใส อันไม่ หวั่นไหวในพระสงฆ์ นั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบ ระงับ โดยพลัน

      [๑๕๕๓] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย ความเป็นผู้ทุศีล เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ความเป็นผู้ ทุศีล เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไป เพื่อสมาธิ ก็เมื่อท่านเห็นศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วอยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบ
ระงับ โดยพลัน

(5.พระสารีบุตรเทศนาเรื่อง มรรคมีองค์ ๘)

      [๑๕๕๔] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉาทิฏฐิ เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาทิฏฐิ เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมี สัมมาทิฏฐิ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาทิฏฐินั้น อยู่ในตน เวทนา จะพึงสงบ ระงับโดยพลัน

      [๑๕๕๕] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉาสังกัปปะ เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสังกัปปะ เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาสังกัปปะ ก็เมื่อท่านเห็น สัมมาสังกัปปะ นั้น อยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน

      [๑๕๕๖] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉาวาจา เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวาจา เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านส่วนท่าน มีสัมมาวาจา ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาวาจานั้น อยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบ ระงับโดยพลัน

      [๑๕๕๗] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉากัมมันตะ เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉากัมมันตะ เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมากัมมันตะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมากัมมันต ะนั้น อยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน

      [๑๕๕๘] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉาอาชีวะ เห็น ปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาอาชีวะ เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาอาชีวะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาอาชีวะนั้น อยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน

      [๑๕๕๙] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉาวายามะ เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวายามะ เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาวายามะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาวายามะนั้น อยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน

      [๑๕๖๐] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉาสติ เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสติ เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านส่วนท่าน มีสัมมาสติ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาสตินั้นอยู่ในตน เวทนาจะพึง สงบระงับโดยพลัน

      [๑๕๖๑] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉาสมาธิ เห็นปาน ใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาสมาธิ เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาสมาธิ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาสมาธินั้น อยู่ในตน เวทนา จะพึงสงบระงับโดยพลัน

(6.พระสารีบุตรเทศนาเรื่อง มิจฉาญาณะ และ มิจฉาวิมุตติ)

      [๑๕๖๒] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉาญาณะ เห็น ปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาญาณะเห็น ปานนั้น ย่อมไม่มี แก่ท่าน ส่วนท่านมีสัมมาญาณะ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาญาณะนั้น อยู่ในตน เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน

      [๑๕๖๓] ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย มิจฉาวิมุติ เห็นปานใด เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก มิจฉาวิมุติ เห็นปานนั้น ย่อมไม่มีแก่ท่านส่วนท่าน มีสัมมาวิมุติ ก็เมื่อท่านเห็นสัมมาวิมุตินั้น อยู่ในตน เวทนา จะพึงสงบระงับโดยพลัน

      [๑๕๖๔] ครั้งนั้น เวทนาของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี สงบระงับแล้ว โดยพลัน ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีอังคาส ท่านพระสารีบุตร และท่านพระอานนท์ ด้วยอาหารที่เขาจัดมา เฉพาะตน ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เมื่อท่าน พระสารีบุตร ฉันเสร็จนำมือออกจากบาตรแล้ว จึงถือเอาอาสนะต่ำอันหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ท่านพระสารีบุตรอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้

      [๑๕๖๕] ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลอันงาม ที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว สรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใส ในพระสงฆ์ และมี ความเห็นอันตรง บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสนชีวิต ของผู้นั้น ไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย พึงประกอบตาม ซึ่งศรัทธาศีล ความเลื่อมใสและความเห็นธรรม

(7. พระสารีบุตรแสดงธรรมแล้วจากไป)

      [๑๕๖๖] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตร ครั้นอนุโมทนาด้วย คาถาเหล่านี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป

(8. พระอานนท์กราบทูลพระผู้มีพระภาค)

      [๑๕๖๗] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาค ถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เธอมาจากไหนแต่ยังวัน ท่านพระอานนท์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตร กล่าวสอนอนาถบิณฑิก คฤหบดี ด้วยโอวาทข้อนี้ๆ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

      ดูกรอานนท์ สารีบุตรเป็นบัณฑิต สารีบุตรมีปัญญามาก ได้จำแนก โสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐ อย่าง


(หมายเหตุ : พระสูตรนี้ ไม่ได้กล่าวถึงการทำกาละของเศรษฐี และไม่ได้กล่าวถึง ภพใหม่ ว่าได้กายชั้นไหน)

 


ฉบับหลวงเล่ม ๑๙ สุตตันตปิฎกหน้า ๓๘๒
ทุสีลยสูตรที่ ๒ : กลัวความตายเพราะไม่มีธรรม ๔ ประการ

ทุสีลยสูตรที่ ๒
กลัวความตายเพราะไม่มีธรรม ๔ ประการ


      [๑๕๖๘] สาวัตถีนิทาน. ก็สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิก คฤหบดี ป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า

(1. อนาถบิณฑิกเศรษฐี ให้บุรุษไปหาพระอานนท์)

       ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปเถิด จงเข้าไปหาท่านพระอานนท์

       ครั้นแล้ว จงไหว้เท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ ด้วยเศียร เกล้าตามคำ ของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอกราบเท้าทั้งสอง ของท่านพระอานนท์ ด้วยเศียรเกล้า และท่านจงเรียนอย่างนี้ว่า

      ข้าแต่ท่านผู้เจริญได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จง อาศัย ความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำของท่านอนาถ บิณฑิกคฤหบดีแล้ว เข้าไปหาท่าน พระอานนท์ถึงที่อยู่อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง

      ครั้นแล้วได้เรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอนาถบิณฑิก คฤหบดีป่วย ได้รับ ทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสอง ของท่าน พระอานนท์ ด้วยเศียรเกล้า และ ท่านสั่งมาอย่างนี้ว่า

       ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์ จงอาศัย ความ อนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เถิด ท่านพระอานนท์รับ นิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

      [๑๕๖๙] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวรเข้าไป ยังนิเวศน์ ของท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี แล้วนั่งบน อาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้นแล้ว ได้ถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า

      [๑๕๗๐] ดูกรคฤหบดี ท่านพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพ ให้เป็นไปได้ แลหรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบ ไม่ปรากฏแลหรือ? ท่านอนาถ บิณฑิกคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอดทน ไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ทุเลาลงเลย ความกำเริบย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ

(2. พระอานนท์อนุเคราะห์แสดงธรรม ๔ ประการ ของผู้ไม่ได้สดับ ย่อมสดุ้งกลัว)

      [๑๕๗๑] อ. ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วย ธรรม ๔ ประการ ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตาย ที่จะมาถึงในภายหน้า

ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน?

      ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ประกอบด้วยความไม่เลื่อมใส ใน พระพุทธเจ้า ก็เมื่อเขาเห็นความไม่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้านั้น อยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้ง หวาดเสียว กลัวความตายที่จะมาถึงใน ภายหน้า

      อีกประการหนึ่ง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความ ไม่เลื่อมใส ในพระธรรม ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใส ในพระธรรม นั้น อยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตาย ที่จะมาถึง ในภายหน้า

      อีกประการหนึ่ง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความ ไม่เลื่อมใส ในพระสงฆ์ ก็เมื่อเขาเห็นความไม่เลื่อมใส ในพระสงฆ์ นั้น อยู่ในตน ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตาย ที่จะมาถึง ในภายหน้า

      อีกประการหนึ่ง ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยความเป็นผู้ ทุศีล ก็เมื่อเขาเห็นความเป็นผู้ทุศีลนั้นอยู่ในตน ย่อมมีความ สะดุ้ง หวาดเสียว กลัวความตาย ที่จะมาถึงในภายหน้า

      ดูกรคฤหบดี ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ แล ย่อมมีความสะดุ้งหวาดเสียว กลัวความตาย ที่จะมาถึง ในภายหน้า

(2. พระอานนท์อนุเคราะห์แสดงธรรม ๔ ประการ ของผู้ที่ได้สดับ ย่อมไม่สะดุ้งกลัวความตาย)

      [๑๕๗๒] ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตาย ที่จะ มาถึง ในภายหน้า ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน?

      อริยสาวกผู้ได้สดับในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหว ในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม ก็เมื่อเขาเห็น ความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้านั้น อยู่ในตน ย่อมไม่มี ความสะดุ้ง หวาดเสียว ไม่กลัวความ ตายที่จะมาถึงในภายหน้า

      อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยความ เลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวใน พระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มี พระภาค ตรัสดีแล้ว ฯลฯ อันวิญญูชน พึงรู้ เฉพาะตน ก็เมื่อ เขาเห็นความ เลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระธรรมนั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มีความสะดุ้ง หวาดเสียว ไม่กลัวความตายที่จะมาถึง ในภายหน้า

      อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยความ เลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มี พระภาค เป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่น ยิ่งกว่า ก็เมื่อเขาเห็น ความเลื่อมใส อันไม่ หวั่นไหว ในพระสงฆ์นั้น อยู่ในตน ย่อมไม่ มีความ สะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตาย ที่จะมาถึง ในภายหน้า

      อีกประการหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยศีล ที่พระอริย เจ้า ใคร่แล้ว ฯลฯ เป็น ไปเพื่อสมาธิ ก็เมื่อเขาเห็นศีล ที่พระอริยเจ้า ใคร่แล้ว นั้นอยู่ในตน ย่อมไม่มี ความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัว ความตาย ที่จะมาถึงในภายหน้า

      ดูกรคฤหบดี อริยสาวกผู้ได้สดับ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ นี้แล ย่อมไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ไม่กลัวความตาย ที่จะมาถึง ในภายหน้า

      [๑๕๗๓] ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี กล่าวว่า ข้าแต่ท่าน อานนท์ ผู้เจริญ กระผมไม่กลัว กระผมจักพูดแก่ท่านได้ด้วยว่า กระผมประกอบ ด้วย ความเลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า .. ในพระธรรม .. ในพระสงฆ์ ...อนึ่ง สิกขาบทเหล่าใด ซึ่งสมควรแก่ คฤหัสถ์ อันพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้ว กระผมยังไม่แลเห็นความ ขาดอะไรๆ ของสิกขาบทเหล่านั้น ในตนเลย

      อ. ดูกรคฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว โสดาปัตติผล ท่านพยากรณ์แล้ว

(หมายเหตุ : อานนท์พยากรณ์โสดาปัตติผลของเศรษฐี ได้ด้วยหรือ)


 
 
 


ข้อสังเกตุ


ฉบับหลวงเล่ม ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้า ๓๔๘
สฬายตนวรรค อนาถปิณฑิโกวาทสูตร


1. พระสูตรนี้กล่าวว่า อนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้ทำกาละ เข้าถึงชั้นดุสิต
     [๗๓๘] ต่อนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดี เมื่อท่านพระสารีบุตร และท่าน พระอานนท์ หลีกไปแล้วไม่นาน ก็ได้ทำกาลกิริยาเข้าถึงชั้นดุสิตแล (เทวดากามภพ)

กรณีนี้ ซึ่งขัดแย้งกับผัคคุณสูตร
ใน "ผัคคุณสูตร" กล่าวว่า ผู้ยังไม่หลุดพ้นจาก สังโยชน์ เบื้องต่ำ ๕ เมื่อฟังธรรมก่อนทำกาละจะสิ้นสังโยชน์ ๕ ได้คุณสมบัติของ "อนาคามี" เข้าถึงชั้น พรหมสุทธาวาส (ไม่ใช่ชั้นดุสิตซึ่งเป็นเทวดากามภพ)
-----------------------------------------------------------------------

2. ใครแสดงธรรมแก่คหบดีผู้เป็นไข้หนักกันแน่
ทุสีลยสูตรที่ ๑ กล่าวว่าพระสารีบุตรแสดงธรรมแก่คฤหบดี แล้วจากไป
แต่ ทุสีลยสูตรที่ ๒ กล่าวว่าพระอานนท์แสดงธรรม และยังพยากรณ์ว่าคฤหบดี ได้ความเป็นโสดาบันแล้ว

กรณีนี้ มีความขัดแย้งกันในตัว
     1.เมื่อพิจารณาตามสูตร ๑ แล้วน่าจะเป็นจริง ที่พระสารีบุตรแสดงธรรมแล้วจากไป แต่สูตร ๒ พระอานนท์แสดงธรรม แล้วยังพยากรณ์ความเป็นโสดาบันของ คฤหบดี ด้วย ซึ่งความสามารถเช่นนี้ มีเฉพาะตถาคตเท่านั้น ...

     2. อนาถคฤหบดี ป่วยเป็นไข้หนัก(ครั้งเดียว) กลับมีภิกษุแสดงธรรมถึง 2 คน (สูตร๑ และสตร๒) รูปหนึ่งแสดงธรรมแล้วจากไป แต่อีกรูปหนึ่งกลับพยากรณ์ว่า บรรลุโสดาบันแล้ว
-----------------------------------------------------------------------

3. อนาถบิณฑิก ร้องไห้ น้ำตาไหล เพราะไม่เคยสนใจฟังจาก พระศาสดาเลย
    [๗๓๗] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวแล้วอย่างนี้ อนาถบิณฑิกคฤหบดี ร้องไห้ น้ำตาไหล ขณะนั้น ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวกะอนาถบิณฑิกคฤหบดีดังนี้ ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านยังอาลัย ใจจดใจจ่ออยู่หรือ อ. ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมมิได้อาลัย มิได้ใจจด ใจจ่อ แต่ว่ากระผม ได้นั่ง ใกล้พระศาสดา และหมู่ภิกษุที่น่าเจริญใจ มาแล้วนาน ไม่เคยได้สดับ ธรรมีกถา เห็นปานนี้

กรณีนี้ขัดแย้งกับเรื่องอนาถบิณฑกเข้าเฝ้า
     1 พระผู้มีพระภาคเคยตรัส อนุปุพพิกถา แก่อนาถถึง ทาน ศีล สวรรค์ อาทีนพ ความต่ำทราม ของกามทั้งหลาย จน(คฤหบดี)ได้บรรลุธรรมแล้ว แจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำ แสดงความสงสัย ถึงความเป็น ผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น (เรื่องอนาถบิณฑิกคหบดีเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า ครั้งแรก ฉบับหลวง เล่มที่ ๗ วินัยปิฎก หน้า ๘๑-๘๙)

     2. เป็นผู้ศรัทธาพระผู้มีพระภาคอย่างยิ่ง ถึงขนาดซื้อที่ดินจากเจ้าเชตด้วยเงิน มากมาย เพื่อสร้างวิหาร เชตวัน ถวายพระพุทธเจ้า จะไม่ได้ยินได้ฟังธรรม ที่เป็นเนื้อหาสำคัญ เหมือนกับที่พระสารีบุตรแสดงเลยหรือ
-----------------------------------------------------------------------

สรุป ตามที่ยกมาเข้าใจว่า
"อนาถปิณฑิโกวาทสูตร" ฉบับหลวงเล่ม ๑๔ สุตตันตปิฎก หน้า ๓๔๘ และ
"ทุสีลยสูตรที่ ๒ กลัวความตายเพราะไม่มีธรรม ๔ ประการ " ฉบับหลวงเล่ม ๑๙ สุตตันตปิฎกหน้า ๓๘๒ ทั้งสองพระสูตรนี้น่าจะเป็นอรรถกถา (เรื่องแต่ง)

ส่วนพระสูตร "ทุสีลยสูตรที่ ๑ จำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐" (ฉบับหลวงเล่ม ๑๙ สุตตันตปิฎก หน้า ๓๗๘) น่าจะเป็นพุทธวจน หรือ คำสอนจากพระโอษฐ์)